ข่าวสาร

นิทรรศการใบลาน

นิทรรศการใบลาน

จัดแสดงลักษณะของใบลาน  ความเป็นมาของคัมภีร์ใบลาน พับสา สมุดข่อย จารึกและเอกสารอื่นๆ ที่บันทึกด้วยอักษรตระกูลไท ซึ่งได้แก่ อักษรธรรมล้านนา ไทลื้อ ไทขึน ไทใหญ่ ไทเหนือ ลาว ขอม และไทย รวมถึงอักษรฝักขามและไทยนิเทศที่ใช้ในล้านนาด้วย นอกจากนั้นยังจัดแสดงวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการจารใบลานและเขียนพับสา หีบธรรมที่ใช้เก็บคัมภีร์ใบลานรูปแบบต่าง ๆ

รู้จัก….ลาน

“ลาน” (Corypha L.) เป็นชื่อพรรณไม้ลำต้นเดี่ยวตระกูลปาล์ม แบ่งเป็น 8 สายพันธุ์ พบได้ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียใต้ คือ อินเดีย ศรีลังกา และบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน เป็นต้น

ลานที่พบในประเทศไทย แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ

1) ลานป่า หรือ ลานกบินทร์ (Corypha lecomtei Becc.) เป็นพืชท้องถิ่น พบได้ทั่วไป ในเขตภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิยมนำใบมาทำเป็นวัสดุจักสาน และนำผลมาทำเป็นอาหารหรือของว่าง

2) ลานพรุ (Corypha ekara L.) เป็นพันธุ์ที่พบได้ตามป่าพรุ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำทางภาคใต้ของประเทศ นิยมนำใบมาทำเป็นหลังคา หรือใช้ลำต้นมาพาดเพื่อเป็นสะพานขนาดเล็ก

3) ลานวัด หรือลานเชียงใหม่ (Corypha umbraculifera L.) เป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศอินเดีย หรือศรีลังกา นิยมปลูกเพื่อนำใบมาใช้จารอักษรลงไป เรียกว่าคัมภีร์ใบลาน

ความเชื่อและภูมิปัญญาในการนำต้นลานมาใช้ประโยชน์ในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคเหนือของไทยและบริเวณใกล้เคียงที่เป็นเขตวัฒนธรรมล้านนา  มีดังนี้

“ลำต้น” ลักษณะเรียวและตรง เส้นผ่านศูนย์กลาง 60-120 เซนติเมตร สูงได้ถึง 10-25 เมตร ผิวลำต้นมีรอยวงแหวนที่เกิดจากการหลุดร่วงของก้านใบ เมื่อออกดอกและผลจะยืนต้นตาย เป็นที่อยู่ของด้วงชนิดหนึ่ง ใช้เวลาหลายปีถึงจะเปื่อยและโค่นล้มลงมา  ในอดีตชาวล้านนามักนำลำต้นมาทำเป็นกลอง หรือ โก๋นผึ้ง (เจาะรูด้านในให้กลวง เพื่อใช้เลี้ยงผึ้ง) เพราะเปลือกนอกมีความแข็งแรง เมื่อแห้งจะมีน้ำหนักเบา สามารถเจาะหรือขุดให้กลวงได้ง่ายกว่าไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ

“ราก” เป็นระบบรากฝอย (Fibrous root) รากที่งอกออกมาจากผลจะเป็นรากขนาดใหญ่ หยั่งลึกลงไปในดินประมาณ 1-2 เมตร แล้วจะเห็นใบงอกออกจากผล พบว่าในตำรายาสมุนไพรล้านนากล่าวถึงการใช้รากต้นลานมาเป็นส่วนผสมในการปรุงตำรับยารักษาโรคและอาการเจ็บป่วยด้วย

“ใบ”  ลักษณะเป็นใบประกอบรูปพัด (Costapalmate Leaf) ก้านใบมีหนามแหลมคล้ายฟันเลื่อย ยาว 2-3 เมตร กว้าง 1.5 – 2.5 เมตร  ในอดีตนิยมนำมาเป็นวัสดุสำหรับจารหลักธรรมคำสอนทางศาสนาเป็นอันดับแรกๆ เรียกว่า “คัมภีร์ใบลาน” และใช้ใบลานมาเขียนข้อมูลหรือสูติบัตร ซึ่งจะระบุวันเดือนปี เวลา ชื่อบิดา-มารดา ชื่อทารก และคำอวยพร  การเขียนคาถาหรือยันต์ต่าง ๆ การเขียนชื่อเจ้าภาพและคำอธิษฐานลงใบลานเพื่อใช้เป็นเส้นสลากภัต นอกจากนี้การใช้ประโยชน์ใบลานในชีวิตประจำวัน เช่น หมวก กระติ๊บข้าว พัด รูปหงส์ปักเครื่องไทยประดับ และเป็นวัสดุมุงหลังคา เป็นต้น

“ผล” หรือลูกลานจะออกจากช่อดอกที่เป็นพุ่มขนาดใหญ่อยู่บนส่วนยอดของต้น ดอกและผลจะออกเมื่ออายุประมาณ 30-70 ปีขึ้นไป ช่อดอกของลานหนึ่งต้นอาจมีมากถึงหนึ่งล้านช่อ เมื่อผสมเกสรแล้วเป็นผลลานประมาณ 75,000 ผล ใช้เวลาจนลูกแก่ 1-2 ปี ผลแก่เต็มที่จะมีเปลือกสีเขียวเข้ม เมื่อแห้งหรือร่วงลงมาจะมีสีน้ำตาล ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ถึง 3-3.5 เซนติเมตร เปลือกนอกของผลมีลักษณะแข็งเหมือนผลมะพร้าวแต่หนากว่า ใต้เปลือกนอกจะมีเยื่อหุ้มเปลือกชั้นในที่แข็งเหมือนกะลามะพร้าว เนื้อด้านในจะมีสีขาวขุ่น

ผลลานหนุ่ม สามารถนำมาทำเป็นอาหาร  ผลลานแก่ นำไปขยายพันธุ์และทำเป็นลูกประคำได้

“ต้นลาน” เป็นพืชที่ชาวล้านนาใช้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน เช่น บันทึกหลักธรรมคำสอนและองค์ความรู้ ทำเป็นสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ยารักษาโรค เครื่องไทยทานและเครื่องใช้ในพิธีกรรม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาที่คิดค้น และสืบทอดกันมาช้านาน ปัจจุบันมีเพียงนักปราชญ์ ผู้รู้ หรือผู้ที่ใช้ประโยชน์หรือเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการใช้ต้นลาน ที่ยังคงศึกษา เรียนรู้ อนุรักษ์ และสืบทอดไว้ บางอย่างสามารถรื้อฟื้นหรือนำกลับมาใช้ในปัจจุบัน หาแนวทางในการต่อยอด หรือการสร้างสรรค์งานที่ตอบสนองกับความต้องการและประโยชน์ของคนในสมัยปัจจุบัน

ภูมินาม (ชื่อหมู่บ้าน) ที่เกี่ยวกับต้นลาน

การตั้งชื่อชุมชน หมู่บ้าน หรือวัดวาอารามต่างๆ นิยมตั้งชื่อตามสภาพแวดล้อม ทำเลที่ตั้ง หรือตั้งชื่อตามชื่อแม่น้ำและต้นไม้ที่สำคัญในบริเวณนั้น พบชื่อหมู่บ้าน ชุมชน หรือวัดในเขตภาคเหนือที่เรียกภูมินามที่เกี่ยวกับต้นลานจำนวนมาก เช่น “วัดป่าลาน” “วัดดงลาน” “วัดต้นลาน” และ “วัดห้วยลาน”

 

กำเนิดคัมภีร์ใบลาน

การนำใบลานมาจารึกอักษร เพื่อบันทึกคำสอนทางศาสนา วรรณกรรม โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ ตำรายารักษาโรค ตลอดถึงองค์ความรู้ต่างๆ เชื่อว่าได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดีย โดยเฉพาะอินเดียตอนใต้ เพราะเป็นแหล่งกำเนิดของต้นลาน  และเป็นใบลานที่มีลักษณะกว้าง ยาว และหนา เหมาะสำหรับจารตัวอักษร

จากประวัติพุทธศาสนาทำให้ทราบว่า มีการจารพระไตรปิฎกลงบนใบลานครั้งแรก  ในการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่ 5 เมื่อพุทธศักราช 433 ณ มหาวิหารในลังกาประเทศ  ต่อมาวัฒนธรรมการบันทึกหลักคำสอนทางพุทธศาสนาลงบนใบลาน วิธีการจารอักษรลงบนใบลาน  และกล้าลาน  ได้แพร่หลายไปยังดินแดนต่าง ๆ  เช่น อินเดีย ธิเบต พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และจีนตอนใต้  พร้อมกับการเผยแพร่พุทธศาสนา  โดยแต่ละกลุ่มต่างประยุกต์ใช้อักษรของตนในการบันทึกหลักคำสอนลงบนใบลาน  เป็นคัมภีร์ทางศาสนาซึ่งนิยมเรียกตามวัสดุที่ใช้บันทึกว่า “คัมภีร์ใบลาน”

การจัดเก็บคัมภีร์ใบลาน

ชาวล้านนามีวิธีการจัดเก็บคัมภีร์ใบลานเพื่อรักษาใบลานให้มีสภาพสมบูรณ์ มีอายุการใช้งานนาน นัยหนึ่งเป็นการธำรงคำสอนทางพุทธศาสนาที่จารึกลงในใบลานให้คงอยู่นานที่สุด การจัดเก็บคัมภีร์ใบลาน จำแนกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

ผ้าห่อคัมภีร์ หรือ ผ้าห่อธรรม

ผ้าที่ใช้สำหรับห่อคัมภีร์ใบลาน จำแนกเป็น 2 ประเภท 1) ผ้าที่ทอโดยสอดซี่ไม้ไผ่บาง ๆ ใช้ม้วนรอบคัมภีร์ใบลานเพื่อป้องกันไม่ให้ใบลานหักหรืองอ  นิยมใช้สำหรับคัมภีร์ใบลานที่จะนำไปใช้งานโดยทำเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวพอดีหรือยาวกว่าคัมภีร์ใบลานเล็กน้อย มีชายผ้าที่เย็บไว้ตรงกลางของด้านข้างทั้งสองด้าน เพื่อพาดทับไว้ก่อนที่จะม้วนผ้าห่อคัมภีร์นั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ใบลานหลุดออกมาจากม้วน 2)  ผ้าธรรมดา นิยมใช้ห่อคัมภีร์ใบลานจากนั้นรัดด้วยเชือก ก่อนนำไปจัดเก็บในหีบธรรม

หีบธรรม หรือ ตู้ธรรม

หีบธรรม หรือตู้ธรรม ทำจากไม้ มีรูปทรงที่หลากหลาย ทั้งแบบเปิดฝาจากด้านบน และด้านหน้า มีการประดับตกแต่งให้สวยงามด้วยการทาชาด หรือลงรักปิดทอง และอาจประดับกระจก ฯลฯ หีบธรรมหรือตู้ธรรมส่วนใหญ่จัดวางในวิหาร หรือหอธรรม (หอไตร)

หอไตร หรือ หอธรรม

หอไตร หรือหอธรรม เป็นอาคารที่ใช้เก็บรักษาคัมภีร์ใบลาน นิยมสร้างเป็นอาคารสองชั้นใต้ถุนโล่ง หรืออาจสร้างขึ้นกลางน้ำ มีลักษณะพิเศษคือไม่สร้างบันไดติดกับตัวอาคารเป็นการถาวร แต่จะนำบันไดมาพาดเมื่อต้องการใช้งาน การสร้างหอไตรให้มีใต้ถุนโล่งหรือสร้างกลางน้ำเป็นภูมิปัญญาในการควบคุมความร้อนและความชื้น เพื่อช่วยยืดอายุคัมภีร์ใบลาน ชาวล้านนาเชื่อว่าหอไตรเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ จะไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเข้าโดยไม่จำเป็น

อักษรในคัมภีร์ใบลาน

อักษรที่พบในคัมภีร์ใบลานในแถบเอเชีย เพื่อจารอักษรหรือบันทึกองค์ความรู้ ได้แก่ อักษรเทวนาครี อักษรสิงหล อักษรขอม อักษรไทย อักษรพม่า และอักษรธรรมหรืออักษรตระกูลไท (ไทยวน ไทลื้อ ไทใหญ่ ไทขึน ไทน้อย และอักษรลาว)

Loading