คลังความรู้ศิลปวัฒนธรรม

อาคารเทพรัตนราชสุดาศาลาพระพุทธจตุรทิศเรือนอนุสารสุนทรมณฑปพระพิฆเนศวร

อาคารเทพรัตนราชสุดา

พ.ศ.๒๕๔๙ ก่อตั้ง “อาคารเทพรัตนราชสุดา” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เป็นสถาบันการเรียนรู้ล้านนาศึกษาและเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษาโดยความเพียรพยายามดำเนินการจัดหางบประมาณของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัญชลี  วงศ์หล้า ผู้อำนวยการสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม ทั้งนี้ได้รับงบประมาณยุทธศาตร์พัฒนากลุ่ม ๘ จังหวัดภาคเหนือจำนวน ๑๕,๐๐๐,๐๐๐บาท(สิบห้าล้านบาทถ้วน)และงบประมาณมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่จำนวน ๑๘,๘๐๐,๐๐๐ บาท(สิบแปดล้านแปดแสนบาทถ้วน)รวมทั้งสิ้น ๓๓,๘๐๐,๐๐๐ บาท(สามสิบสามล้านแปดแสนบาทถ้วน)รูปทรงอาคารแบบตะวันตกผสมล้านนา สูง  ๔ ชั้น และในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรืองเดช  วงศ์หล้า อฺธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่เป็นประธาน พระครูสุวัตถิ์ปัญญาโสภิต เจ้าอาวาสวัดแสนเมืองมา (หัวข่วง) ประกอบพิธี

วันจันทร์ที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเทพรัตนราชสุดา ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่อาคารเทพรัตนราชสุดาเป็นที่ทำการของสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรมรวมทั้งจัดแสดงวิถีชีวิต ภูมิปัญญา ภาษาและวรรณกรรมกลุ่มชาติพันธุ์ในล้านนาวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๑ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า  อธิการบดี  ได้รับมอบเครื่องสักการะแบบล้านนาร่วมสมัยซึ่งเป็นผลงานของพระครูสุวัตถิ์ปัญญาโสภิต เพื่อจัดแสดง ณ ห้องพุทธศาสตร์ชั้น ๔ อาคารเทพรัตนราชสุดา

ปัจจุบัน จัดแสดงนิทรรศการองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา จำนวน ๔ ชั้น ดังนี้

ชั้น ๑  ห้องศูนย์ข้อมูลภูมิปัญญาล้านนา – ห้องสมุดที่ให้บริการศึกษา ค้นคว้า ยืม-คืน หนังสือหายาก เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม

ชั้น ๒  ห้องนิทรรศการกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ ไทยวน  ลัวะ   ไทเขิน  ไทยอง  ไทใหญ่  ไทลื้อ และห้องผ้ากลุ่มชาติพันธุ์

ชั้น ๓  ห้องนิทรรศการใบลาน

ชั้น ๔  ห้องนิทรรศการองค์ความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสน์และเครื่องสักการะล้านนา นิทรรศการทูลเชิญพระขวัญ นิทรรศการช่อฟ้า ป้านลม หางหงส์

ศาลาพระพุทธจตุรทิศ

ศาลาพระพุทธจตุรทิศ สมโภช พ.ศ. ๒๕๕๒

ศาลาพระพุทธจตุทิศ เดิมเป็นศาลาพระพุทธ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอาคารสำนักงานอธิการบดี หรือ อาคาร ๑ ประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งเดิมประดิษฐานอยุ่ในห้องประชุม ๑๒๑ อาคาร ๑ ชั้น ๒ ซึ่งเป็นห้องประชุมของมหาวิทยาลัยตั้งแต่ ก่อนพ.ศ. ๒๕๑๖   ต่อมาในยุค รองศาสตราจารย์วรรณวดี  ม้าลำพอง  ได้มีการสร้างศาลาพระพุทธขึ้น เพื่อให้ชาวราชภัฏเชียงใหม่ได้สักการะบูชา  เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ    ต่อมาเมื่อมหาวิทยาลัยมีอายุครบ ๘๐ ปี เป็นสมัยที่   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เรืองเดช  วงศ์หล้า เป็นอธิการบดีจึงได้มีการสร้างศาลาพระพุทธขึ้นใหม่ในบริเวณเดิม อาจารย์พิชัย  กรรณกุลสุนทร  คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างเบื้องต้น จาก ดร.สุธาสินี  นิติสาครินทร์ (ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ประจำปีการศึกษา ๒๕๔๙) จำนวน  ๓๐๐,๐๐๐๐ บาท(สามล้านบาท) นอกจากนั้นมีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเพิ่มเติมจนก่อสร้างแล้วเสร็จ  ลักษณะทางสถาปัตยกรรม เป็นแบบประยุกต์มาจากศาลาจัตุรมุขที่วัด อินทราวาส (ต้นเกว๋น) อำเภอหางดง เชียงใหม่   สร้างโดยสล่ารุ่ง  จันตาบุญ ได้ประกอบพิธีสมโภช (ปอยหลวง) วันที่ ๑๔  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๑๙ นาฬิกา  สมโภชมณฑปพระพิฆเณศวร์ ภาคบ่ายสมโภช ( ปอยหลวง) ศาลาพระพุทธจัตุรทิศ

เรือนอนุสารสุนทร

ณ บริเวณทิศเหนือของสนามฟุตบอล ภายในเขตมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีเรือนไม้หลังหนึ่งที่รายล้อมด้วยไม้ยืนต้น ตั้งอยู่ท่ามกลางอาคารเรียนและสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ เรือนไม้ดังกล่าวเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนา เรียกว่า “เรือนกาแล” สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 125 ปีชาตกาลของหลวงอนุสารสุนทร (นามเดิมคือ ซุนฮี้ ชุติมา) อดีตกรมการพิเศษเมืองนครเชียงใหม่ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนาและตั้งชื่อว่า “เรือนอนุสารสุนทร” โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการเครื่องดนตรีล้านนา ณ เรือนอนุสารสุนทร เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๗

ด้านหน้าตรงประตูทางเข้าจะมีซุ้มประตูมุงด้วยกระเบื้องดินขอ และป้ายอักษรธรรมล้านนาและอักษรไทยว่า “เรือนอนุสารสุนทร” โดยเรือนหลังนี้มีลักษณะเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูง หันหน้าไปทางทิศใต้ ตามความเชื่อที่ว่าต้อง “สร้างเรือนขวางตะวัน” เสา พื้นและผนังทำด้วยไม้เนื้อแข็ง หลังคาของอาคารหลักจะเป็นแบบแฝดมุงด้วยกระเบื้อง มีกาแลที่เป็นไม้แกะสลักติดกับหน้าจั่ว เมื่อขึ้นบันไดแล้วจะมีชานบ้านที่โล่งอยู่นอกเขตชายคา มีร้านน้ำ หรือที่วางหม้อน้ำดื่มสำหรับแขกอยู่ด้านทิศตะวันตก และมีเติ๋นที่กว้างเพื่อใช้ทำกิจกรรมต่างๆ เติ๋นที่ตั้งอยู่ก่อนถึงห้องนอนนั้น ด้านทิศตะวันออกจะมีหิ้งบูชา ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำบ้านตามความนิยมของคนในสมัยปัจจุบัน และหิ้งวางเครื่องบูชาบรรพบุรุษที่ชาวล้านนาเรียกว่า “หิ้งผีปู่ย่า” ตามจารีตที่ยึดถือและปฏิบัติกันในอดีต

ก่อนที่จะย่างเข้าสู่เขตห้องนอนที่มีประตูทางเข้า 2 ช่องนั้น จะมีแผ่นไม้ทรงสี่เหลี่ยมที่แกะสลักลวดลายอย่างงดงามติดบนกรอบประตู เรียกว่า “หัมยนต์” ใช้เป็นสัญลักษณ์บอกให้ทราบว่าเป็นที่พื้นที่เฉพาะของคนในครอบครัวเท่านั้น ภายในห้องนอนแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือด้านทิศตะวันออกจะเป็นที่นอนสำหรับหัวหน้าครอบครัว ด้านตะวันตกจะเป็นพื้นที่ของสมาชิกคนอื่นๆ

พื้นที่ด้านทิศตะวันตกของห้องนอน เป็นที่ตั้งของห้องครัวที่มีสิ่งของเครื่องใช้ในการประกอบอาหาร ถูกแยกออกมาโดยมีชานแล่นทะลุไปด้านหลังที่มีร้านน้ำและบันไดด้านหลังบ้าน ที่มีทางเดินไปยัง “หลองข้าว” หรือยุ้งฉาง ที่เป็นอาคารยกพื้นสูง หลังคามุงกระเบื้อง ด้านบนใช้เป็นพื้นที่สำหรับเก็บข้าวเปลือก มีทางเดินโดยรอบ บันไดขึ้นจะไม่สร้างติดไว้ถาวร ด้านล่างใช้เป็นที่เก็บเกวียนและอุปกรณ์การเกษตรต่างๆ

บริเวณใต้ถุนบ้านที่เป็นลานโล่ง ในอดีตจะใช้เป็นที่ทำกิจกรรม เช่น ทอผ้า จักสาน หรือที่วิ่งเล่นของเด็กๆ ปัจจุบันใช้เป็นที่ทำกิจกรรมของคณาจารย์ เจ้าหน้าที่และนักศึกษาในโอกาสต่างๆ มีการกั้นเป็นห้องสำหรับเก็บสิ่งของและห้องสุขา โดยห้องสุขาจะไม่ได้ตั้งอยู่บนตัวบ้านตามขนบเดิมของชาวล้านนา

เรือนอนุสารสุนทร จึงเป็นทั้งแหล่งศึกษาด้านสถาปัตยกรรมล้านนาวิถีชีวิต ความเป็นอยู่และความเชื่อของชาวล้านนา เปิดให้บริการสำหรับผู้สนใจมาเยี่ยมชมและทำกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม โดยสามาถติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักศิลปและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ประวัติ

เรือนอนุสารสุนทร เป็นเรือนไม้กาแลแบบล้านนา สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.2535 เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น นิทรรศการวิถีชีวิตและเครื่องดนตรีล้านนา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการเครื่องดนตรีล้านนา ณ เรือนอนุสารสุนทร เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๗ ได้มีการบูรณะซ่อมแซมอีกครั้งเมื่อ พ.ศ.2560 ปัจจุบันได้ปรับให้เป็นนิทรรศการวิถีชีวิตล้านนา สำหรับคณาจารย์ นักศึกษา ชุมชน และผู้สนใจทั่วไปได้เยี่ยมชน หรือจัดกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม

 

องค์ประกอบ การใช้ประโยชน์ และความเชื่อเกี่ยวกับเรือนอนุสารสุนทร

ซุ้มประตู

ซุ้มประตู เป็นอาคารประกอบด้านนอกสุดของเรือน นิยมใช้ไม้เนื้อแข็งทำเป็นเสาและคาน หลังคาแบบจั่วชั้นเดียว ติดกาแลไว้ทั้ง 2 ด้าน มีประตูแบบระแนงไม้เพื่อเปิดและปิดเพื่อป้องกันสัตว์หรือคนทั่วไปไม่ให้เข้าถึงตัวเรือนโดยง่าย

บันได

ชาวล้านนาจะสร้างบันไดที่มี่จำนวนซี่เป็นเลขคี่ และมีทางขึ้นทางทิศตะวันออก ในอดีตตรงทางขึ้นจะมีอ่างน้ำ หรือตั้งโอ่งน้ำไว้สำหรับล้างเท้าก่อนขึ้นเรือน หากคนที่เป็น “ผีโพรง”เมื่อลงเรือนไปหากินของคาวในเวลากลางคืน หากกลับบันไดโดยเอาด้านล้างขึ้นด้านบน ผู้ที่เป็นผีโพรงนั้นก็จะไม่กล้าขึ้นบ้าน เพราะจำได้ว่าบ้านเหมือนเดิม แต่บันไดไม่เหมือนเดิม ปกติแล้วฝ่ายหญิงจะขึ้นลงเรือนโดยใช้เฉพาะบันไดด้านหลังเท่านั้น และแขกจะไม่ขึ้นเรือนทางบันไดด้านหลัง

ชานบ้าน

ชาน หรือที่ชาวล้านนาออกเสียงว่า “จาน” เป็นพื้นที่โล่ง ไม่มีหลังคาคลุม จึงนิยมทำเป็นพื้นระแนงเพื่อระบายน้ำฝน สารพัด นิยมทำไว้ 2 ส่วน คือด้านหน้าสำหรับทำกิจกรรมทั่วไป และด้านหลังสำหรับการเตรียมอาหารและซักล้าง

ร้านน้ำ

ร้านน้ำ หรือชั้นสำหรับวางหม้อน้ำดื่มและกระบวยตักน้ำ ชาวล้านนานิยมสร้างไว้หลายที่ เช่น ร้านน้ำหน้าบ้านสำหรับผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา ร้านน้ำบนเรือนที่อยู่บริเวณชานสำหรับแขกและหัวหน้าครอบครัวหรือผู้อาวุโสฝ่ายชาย ส่วนร้านน้ำที่อยู่ด้านหลังสำหรับผู้หญิงและเด็ก บางครั้งจะนำพบว่ามีการนำฟางข้าวมามัดรวบแล้วดัดม้วนให้เป็นวงกลม หรือนำบรเพ็ดมาขดให้เป็นวงรอไว้เพื่อไม่ให้หม้อน้ำล้มหรือเอียง ซึ่งความชื้นจากหม้อจะทำให้บรเพ็ดที่เป็นสมุนไพรสดอยู่เสมอ

กาแล

กาแล เป็นไม้แกะสลักลวดลายที่นำมีติดตรงยอดจั่วหลังคา เป็นทั้งเครื่องประดับที่แสดงความสามารถในเชิงช่าง และมีประโยชน์คือช่วยให้นกหรือกาไม่กล้ามาเกาะหลังคาเพราะชาวล้านนาเชื่อว่าเป็นอัปมงคล ในล้านนาและรัฐฉานมีวรรณกรรมเรื่อง กาแลออกหน่อ หรือ แปดแล้งออกยอด ซึ่งเชื่อว่าหากกาแลออกหน่อ คือเรือนหลังใดที่มีตะไคร่น้ำมาเกาะตรงกาแล แสดงว่าเป็นผู้มีบุญและบ้านหลังนั้นมีแต่ความสงบสุขร่มเย็น

เติ๋น

เติ๋น เป็นพื้นที่โล่งที่ยกขึ้นสูงมาจากชานบ้าน เป็นพื้นที่สำหรับนั่งเล่น รับประทานอาหาร หรือรับแขก คานไม้ที่รองรับเติ๋น เรียกว่า “ต๋ง” ซึ่งมีคำอู้บ่าวอู้สาวที่กล่าวว่า “นั่งเต๊อะนั่งเต๊อะ บ่ดีนั่งตั๊ดตง ฟากจะไหลลง ตงจะไหลข้อน” นอกจากนั้น เติ๋นยังใช้เป็นที่นอนของลูกหลานที่อยู่ในวัยหนุ่ม หรือแขกที่มาเยี่ยมเยือน

หิ้งผีปู่ย่า

ในอดีตนั้นชาวล้านนาจะไม่นำพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้บนเรือน แต่สิ่งที่จะยึดเหนี่ยวจิตใจและไหว้สักการะนั้นคือผีบรรพบุรุษ จึงมีการสร้างหิ้งผีปู่ย่าไว้ด้านทิศตะวันออกของบ้าน โดยมีพานหรือถาดใส่ดอกไม้ นิยมนำต้นหมากผู้หมากเมียมาใส่ถวดหรือแจกันมาวางไว้ด้วย บางครั้งจะนำรูปปูชนียสถาน รูปภาพพระเถระหรือบรรพบุรุษ และขันครู ตลอดจนคัมภีร์ใบลานหรือพับสาที่เป็นสมบัติส่วนตัว

หัมยนต์

หัมยนต์ คือแผ่นไม้แกะสลักเป็นลวดลายที่ติดไว้ด้านบนของประตูเข้าห้องนอน เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้ทราบว่าพื้นที่หลังประตูนั้นเป็นพื้นที่เฉพาะของครอบครัว แขกหรือผู้ที่มาเยือนไม่สามารถก้าวล่วงเข้าไปได้ และเชื่อว่าเป็นสิ่งที่จะปกป้องไม่ให้สิ่งชั่วร้ายเข้าไปยังที่นอน เพราะยามค่ำคืนเป็นช่วงเวลาที่ภูติผีปิศาจออกหากินหรือทำร้ายผู้คน และยามที่คนนอนอยู่นั้นเป็นช่วงที่มนุษย์อ่อนแอที่สุด

ห้องนอน

เป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อน ส่วนมากจะมีเพียงห้องเดียว แต่จะมี “ผ้ากั้ง” หรือผ้าม่านที่ใช้แบ่งเขต ใช้ “สะลี” หรือฟูกสำหรับรองนอน โดยทิศตะวันออกจะเป็นพื้นที่สำหรับหัวหน้าครอบครัวหรือผู้อาวุโส ส่วนทิศตะวันตกเป็นที่นอนของลูกสาว หรือลูกชายที่อยู่ในวัยเด็ก หากผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวล่วงเข้าไปในเขตห้องนอนจะต้อง “เสียผี” คือทำขันขอขมาต่อผีเรือน หากมีคนตายผิดปกติในห้องนอน เช่น ตายทั้งกลม จะต้องเจาะพืนเรือนแล้วเอาศพหย่อนลงไป ไม่สามารถหามศพออกทางประตูห้องนอนได้

ครัวไฟ

ครัวไฟ หรือห้องครัว เป็นพื้นที่สำหรับประกอบอาหาร โดยเตาไฟหรือแม่ชีไฟที่สร้างบนเรือนจะทำเป็นกระบะดิน แล้วนำหิน 3 ก้อนมาทำเป็นก้อนเส้าหรือที่วางหม้อ ด้านบนของเตาไฟจะสานไม้ไผ่เป็นตะแกรงสำหรับวางพริก กระเทียม หรือภาชนจักสานใหม่ เพราะควันไฟและความร้อนจะช่วยทำให้ไม่มีมอดมากัดกินเสียหาย หากข้าวที่นึ่งเป็นสีแดง ชาวล้านนาเชื่อว่าเป็นลางไม่ดี บางครั้งเมื่อสมาชิกในครอบครัวเจ็บป่วยและหาสาเหตุไม่ได้ ผู้อาวุโสฝ่ายหญิงจะเตรียมหมากเมี่ยงพลูยาและเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ นำหม้อนึ่งมาพันด้วยผ้าขาว เอาไม้สอดไว้และถือแกว่งไปมา เพื่อเชิญ “ผีย่าหม้อนึ่ง” มาบอกสาเหตุ หรือซักถามเรื่องอื่นๆ ผ่านร่างทรงนั้น

หลองข้าว

หลองข้าว หรือยุ้งฉางข้าว นิยมสร้างเป็นอาคารยกพื้นสูง ด้านบนสำหรับใช้เก็บข้าวเปลือกมีทางเดินโดยรอบ มักนำปฏิทินตักข้าวที่เป็นแผ่นไม้ยาว ขีดเป็นตารางไว้ตามความยาว มีด้านซ้ายและขวาด้านละ 15 ช่อง ตามวันข้างขึ้นข้างแรม มีสัญลักษณ์ตามวันที่เหมาะสำหรับการตักข้าวไปตำ

นิยมวาง “โก๋นเผิ่ง” คือกล่องไม้หรือท่อนต้นลานที่เจาะเป็นโพรงสำหรับเลี้ยงผึ้ง ด้านล่างสำหรับเก็บสิ่งของเครื่องใช้ทางการเกษตร หรือเก็บเกวียน ภายในหลองข้าวบางครั้งจะใช้เป็นที่เก็บฟักเขียวหรือฟักทอง เพราะการดูดความร้อนของกองข้าวเปลือกจะช่วยให้เนื้อด้านในจะไม่เน่า

ครกมอง

ครกมอง หรือครกกระเดื่อง สร้างเป็นอาคารชั้นเดีียวติดพื้น มุงหลังคาครอบครกกระเดื่องไว้ ในการสร้างครกมองนั้น มีความเชื่อว่าจะต้องได้สัดส่วนที่เป็นมงคล โดยใช้ขนาดฝ่าเท้าของเจ้าของเรือนเป็นตัววัด โดยวางไปตามลำดับตั้งแต่หัวมองไปจนสุด แล้วนับโฉลก ดังนี้ “ไร้ต่อเถ้า (ลำบากจนเฒ่า-ไม่ดี) อยากข้าวชู่ปี (หิวข้าวหรือข้าวไม่พอกินทุกปี-ไม่ดี) บ่อยากข้าวสักปี (มีข้าวเหลือเฟือไม่อดอยาก-ดี) เป็นดีแควนเหลือท่่าน (อุดมสมบูรณ์กว่าคนอื่น-ดี) อยู่ดีบ่ไข้ (สุขสบายไม่เจ็บไข้ได้ป่วย-ดี) ท่านไร้เรามี (คนอื่นอดอยากแต่เรามีกิน-ดี) ให้นับอย่างนี้ไปจนสุดแล้วทำนายตามนั้น

มณฑปพระพิฆเนศวร

สร้าง กรกฎาคม ๒๕๕๑       ยกฉัตรสมโภช ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
ศาลพระพิฆเณศวร์หลังเดิม อยู่ติดถนนตรงทางโค้งพอดี สถานที่คับแคบมีปัญหาเรื่องการสัญจรไปมา จุดประสงค์อีกประการหนึ่งคือ ทางมหาวิทยาลัยต้องการให้ให้สร้างมณฑปพระพิฆเณศวร์เป็นเครื่องหมายแสดงขอบเขตที่สำคัญยิ่ง (Land Mark) ของมหาวิทยาลัย เมื่อเข้าประตูมหาวิทยาลัยสิ่งแรกที่เห็นคือ มณฑปพระพิฆเณศวร์ คณะผู้บริหารจึงได้นำเรียนปรึกษาพระครูสุวัตถิ์ปญฺญาโสภิต (ครูบาแอ)ได้รับความเมตตาออกแบบและดูแลการก่อสร้าง ลักษณะของมณฑปหลังใหม่เป็นศิลปะทรงล้านนาประยุกต์ มียอดเดียวส่วนบนยอดมณฑปแบ่งเป็น ๓ ชั้นลดหลั่นกัน แต่ละชั้น มีซุ้มจรนำชั้นละ ๔ ซุ้มประดิษฐานพระพิฆเณศวร์องค์เล็กซุ้มละองค์ รวมเป็น ๑๒ องค์ ตัวมณฑปประดับด้วยปูนปั้นลายดอกสบันงา ปิดทอง เกสรดอกประดับด้วยทับทิมสีแดง และแก้วอังวะ มีบันไดขึ้น ๓ ด้าน ที่ซุ้มประธานมีแท่นประดิษฐานพระพิฆเณศวร์ทั้งสององค์ องค์เล็กซึ่งเป็นองค์แรกของสถาบันประดิษฐานบนแท่นสูงกว่า ส่วนฐานมีความกว้างประมาณด้านละ ๒ เมตรโดยรอบ ด้านล่างใต้มณฑปทำเป็นห้องโถงโล่งสำหรับเก็บสิ่งของที่เกี่ยวกับการจัดพิธีกรรม เพราะมีประตูปิดมิดชิด ทั้งนี้มี นายนิคม ใจอ้าย เป็นหัวหน้าสล่า (สล่าเค้า) และนายสมศักดิ์ ใจอ้าย บุตรชายเป็นผู้สืบทอดงานก่อสร้างทั้งหมด ส่วนสล่าปูนปั้นประดับมี นายอิ่นคำ ศรีวิลัย เป็นหัวหน้า ( สล่าเค้า) และเป็นลูกศิษย์ของสล่าไล สล่าปูนปั้นศาลพระพิฆเณศวร์หลังเดิม สล่าทั้งหมดเป็นสล่าประจำที่ช่วยงานก่อสร้างของวัดแสนเมืองมาหลวง(หัวข่วง) มณฑปหลังใหม่เริ่มก่อสร้างโดยการปรับพื้นที่ ย้ายยุ้งข้าวอโนจากับครกตำข้าวไปไว้ด้านข้างอาคารเทพรัตนราชสุดา เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณสี่เดือนครึ่งจึงแล้วเสร็จ และได้ทำพิธีอัญเชิญพระพิฆเณศวร์ทั้งสององค์ประดิษฐานยังมณฑปหลังใหม่ วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๑ สมโภช วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๑๙ นาฬิกา

Loading

Loading