ข่าวสาร

นิทรรศการทูลพระขวัญ

นิทรรศการทูลพระขวัญ

พิธีกรรมเรียกขวัญ

การเรียกขวัญ การเฮียกขวัญ หรือการฮ้องขวัญ เป็นพิธีกรรมของชาวล้านนา มีความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมี “ขวัญ” อยู่ประจำตัว  ในช่วงเวลาที่ขวัญประจำอยู่ครบร่างกายและจิตใจจะมีสภาวะปกติ แต่เมื่อมีเหตุการณ์ทำให้ขวัญออกจากตัว จะส่งผลให้เกิดความไม่ปกติทางกายหรือใจ ชาวล้านนาจึงมีพิธีกรรม
เรียกขวัญ  โดยแบ่งเป็น ๓ ลักษณะ ได้แก่

๑.  การเรียกขวัญเนื่องในโอกาสที่เกิดการเปลี่ยนแปลงสถานภาพในชีวิต เช่น การแต่งงาน การขึ้นบ้านใหม่ การรับตำแหน่งใหม่ การย้ายถิ่นที่อยู่
๒.  การเรียกขวัญภายหลังจากเดินทางไกล
๓.  การเรียกขวัญในกรณีที่เกิดอาการเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุ หรือได้รับคำทำนายว่าเสียขวัญ

 

พิธีกรรม “ฮ้องขวัญ” (เรียกขวัญ) ของชาวล้านนา มีองค์ประกอบสำคัญ ประกอบด้วย

  • บายศรี คือ เครื่องสักการะในการเชิญขวัญ ทำจากใบตองเย็บเป็นชั้นๆ โดยขนาดและจำนวนชั้นจะขึ้นอยู่กับสถานภาพของผู้เข้าพิธีกรรม ประดับด้วยดอกไม้มงคล ภายในบรรจุ ข้าว อาหารคาว อาหารหวาน ผลไม้ หมาก เมี่ยง พลู บุหรี่ และด้ายสายสิญจน์
  • ขันตั้ง คือ เครื่องสักการะในการประกอบพิธีบูชาครู
  • คำเรียกขวัญ คือ บทหรือคำกล่าวที่ใช้เชิญขวัญกลับมาประจำตัว
  • ด้ายสายสิญจน์ คือ เส้นฝ้ายที่ใช้ผูกข้อมือ ทำหน้าที่ผูกขวัญให้สถิตประจำตัว

 

คำทูลเชิญพระขวัญ

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้ทำหน้าที่รักษา “คำทูลเชิญพระขวัญ” ซึ่งเป็นวรรณกรรมอันทรงคุณค่าและแสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีของชาวล้านนาเชียงใหม่ที่มีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อครั้งเสด็จเยือนจังหวัดเชียงใหม่  ชาวเชียงใหม่ได้ประกอบพิธี “ทูลเชิญพระขวัญ” โดยมีการจัดทำ “คำทูลเชิญพระขวัญ” เขียนด้วยอักษรธรรมล้านนา และอักษรไทย ปัจจุบันต้นฉบับเก็บรักษาโดยสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จำนวน ๗ ฉบับ ดังนี้

๑.  คำทูนพระขวัญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในคราวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๗
๒.  คำกราบบังคมทูลถวายสลุงหลวง น้อมเกล้าถวายแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชภัทรมหาราช ในพระบรมราชวโรกาสครบรอบพระชนมายุ ๗๒ พรรษา ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๒
๓. คำทูนพระขวัญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฏราชกุมาร ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเปิดอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๕
๔.  คำทูลพระขวัญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ในคราวเสด็จพระราชดำเนินประพาสเยี่ยมราษฎรภาคเหนือภายหลังกลับจากต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๙
๕.  คำทูลพระขวัญพลโทหญิงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ตำบลพรหมณี อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๗
๖.  คำทูนพระขวัญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในคราวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเรือนอนุสารสุนทร(หอดนตรีพื้นบ้านล้านนา) ณ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๗
๗.  คำทูลพระขวัญสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา เนื่องในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนิินทรงเปิดเชียงอินทร์พลาซ่า ณ เชียงอินทร์พลาซ่า อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

 

หมายเหตุ

*    คำว่า “ทูลเชิญพระขวัญ” เป็นคำราชาศัพท์ที่มีความหมายตรงกับคำว่า “ฮ้องขวัญ” ซึ่งเป็นพิธีกรรมเรียกให้ขวัญกลับมาสถิตประจำตัว ตามความเชื่อของชาวล้านนา
** ข้อมูลคำทูนพระขวัญ/ทูลพระขวัญ อ้างอิงจากต้นฉบับที่รักษาไว้ ณ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

Loading