ข่าวสาร

นิทรรศการ “วัฒนธรรมผ้าในพระพุทธศาสนาล้านนา” สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

นิทรรศการ
“วัฒนธรรมผ้าในพระพุทธศาสนาล้านนา”
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

     เมื่อกล่าวถึง “ผ้าในล้านนา” ผู้คนทั่วไปมักจะนึกถึงเฉพาะผ้าซิ่นหลากลวดลายและราคาแพงเป็นอันดับ แรก เพราะถูกกระตุ้นและสร้างมูลค่าผ่านการนําเสนอในรูปแบบแฟชั่น ละครทีวี หรือนิทรรศการต่างๆ แต่ใน วัฒนธรรมผ้าของชาวล้านนา หรือกลุ่มชาติพันธุ์ไทในดินแอนอุษาคเนย์ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) มีอีกหลาย ประเภท ได้แก่ ผ้าที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ผ้าในมิติของไสยศาสตร์ ความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งปรากฏใน เอกสารโบราณและเรื่องเล่า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวัสดุและเทคโนการผลิต การใช้งานในวิถีชีวิตประจําวัน การค้าขาย หรือแม้กระทั่งการนําไปเป็นเครื่องบรรณาการ โดยในปัจจุบัน ผ้าที่เป็นเครื่องแต่งกายมีความเคลื่อนไหวหรือตื่นตัว เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาการผลิตผ้า ความเปลี่ยนแปลงในการใช้งาน และค่านิยมในการสะสม ทําให้มูลค่าของผ้า โบราณดีดตัวสูงขึ้น ส่วนผ้าที่มีการสร้างถวายตามความเชื่อทางศาสนาแบบล้านนา เช่น ผ้าห่มพระพุทธรูป ผ้าเพดาน ผ้าไตร จีวร ผ้าตุง ผ้ายันต์ ผ้ากราบ และผ้าห่อคัมภีร์ ก็ได้รับความสนใจจากนักวิชาการในแง่มุมต่าง ๆ ด้านผ้าที่เป็นเรื่องความเชื่อ ไสยศาสตร์ หรือ พิธีกรรมนั้นก็ได้มีการพัฒนา ผลิตซ้ำ หรือเปลี่ยนแปลงไปตามกระแส เช่น ผ้ายันต์ (ของเก่า-ของใหม่) เครื่องแต่ง การของร่างทรง ผ้าในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ และการใช้ผ้าแพรหลากสี ซึ่งวัฒนธรรมการใช้ผ้าเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรมีการศึกษาทั้งด้านบทบาท หน้าที่ ความเชื่อ และพัฒนาการ เพื่อขยายองค์ความรู้และวิเคราะห์บริบทหรือ สถานภาพการใช้ผ้าในพระพุทธศาสนาและความเชื่อในสังคมปัจจุบัน

“ผ้าล้านนา”

     วิธีการทำฝ้ายแบบล้านนานั้น เริ่มจากการเก็บปุยฝ้ายจากต้นแล้วก็นำไปตากแดดเพื่อไล่ความชื้นและแมลง จากนั้นจึงใช้อีดหรือเครื่องหีบทำการอีดฝ้ายเพื่อแยกเมล็ดออกจากยวง ฝ้ายที่อีดแล้วนี้จะนำไปใส่ในซ้าลุ่น คือตะกร้าใบโตที่วางนอนกับพื้น แล้วยิงด้วยกงยิงฝ้ายให้ฝ้ายนั้นฟูขึ้นคล้ายสำลีฝ้ายที่ฟูนี้จะนำไปผัดหางฝ้าย คือนำไปพันกับแกนไม้ขนาดตะเกียบแล้วคลึงให้เป็นหลอดเรียกว่าหางฝ้าย หางฝ้ายที่ได้มาจะนำไปสู่เครื่องปั่นด้ายที่เรียกว่าเผี่ยน ติดหางฝ้ายเข้ากับไมเผี่ยนหรือเหล็กใน แล้วผู้ปั่นฝ้ายจะนั่งหมุนกงล้อด้วยมือขวาไปตามเข็มนาฬิกา มือซ้ายลากหางฝ้ายเข้าหาลำตัวสายพานที่โยงจากกงล้อไปหมุนไม หรือเหล็กไนให้บิดเกลียวฝ้ายไปเรื่อยๆ ฝ้ายหรือเส้นด้ายที่ได้จะมีขนาดใหญ่หรือเล็กจะขึ้นอยู่กับจังหวะการบีบหางฝ้ายและความเร็วในการดึงหางฝ้ายเข้าหาลำตัว เมื่อเห็นว่าด้ายที่อยู่ในช่วงแขนนั้นบิดเป็นเกลียวได้ที่แล้วก็จะหมุนเผี่ยนให้ถอยหลังเล็กน้อยพร้อมกับผ่อนมือซ้ายที่ถือด้ายลงให้เส้นด้ายม้วนตัวเข้าพันไม แล้วก็หมุนกงเผี่ยนดึงด้ายไปเรื่อยๆ จนด้ายเต็มเหล็กไนแล้วก็จะนำฝ้ายที่ได้ม้วนเข้ากับเปีย (อ่าน "เปี๋ย") ซึ่งมีลักษณะสามขาร่วมแกนเดียวกัน ฝ้ายที่ปลดออกมาจากเปียนี้จะมีลักษณะเป็นไจที่เรียกว่าฝ้ายต่อง เก็บฝ้ายต่องหลายต่องซ้อนกันรวมเรียกว่าฝ้ายปิด ฝ้ายที่ใช้ในการพิธีกรรมต่างๆ จะใช้ฝ้ายต่องนี้
เมื่อได้ฝ้ายต่องที่รวมกันเป็นฝ้ายปิดพอแก่ความต้องการแล้ว ก็จะนำไปนวดในกัวะคั้นฝ้าย โดยใช้น้ำข้าวที่ได้จากเมือกของข้าวเหนียวนึ่ง นำด้ายลงนวดให้ทั่ว ปั้นกลุ่มด้ายนั้นแล้วคลี่ตากแดด นำฝ้ายปีดที่ตากแห้งแล้วมาใส่บ่ากวัก โดยสวมฝ้ายปีดเข้ากับควงคว้างโยงไปพันบ่ากวักที่สอดอยู่กับหางเหนซึ่งเป็นแกนรองรับบ่ากวัก จากนั้นใช้ไม้ที่เป็นตะขอเกี่ยวเข้ากับปากของบ่ากวักแล้วหมุนให้ด้ายจากควงคว้างซึ่งบ่ากวักจะดึงด้ายซึ่งถูกกาวจากน้ำข้าวรัดเป็นเกลียวคงที่แล้วให้คลื่ออกจากต่องไปพันกับบ่ากวัก และจากกวักหรือบ่ากวักนั้น เส้นฝ้ายก็จะถูกนำไปจัดให้เรียงกันเป็นเส้นยืนส่วนหนึ่งจะทำเป็นเส้นพุ่งเพื่อทอเป็นผืนผ้าต่อไป

ในที่นี้จะนำข้อมูลและภาพถ่ายของผ้าที่ใช้ในพระพุทธศาสนา ผ้าที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และผ้าที่ลักษณะพิเศษต่างๆ ดังนี้

(1) ผ้าพระบฏ
(2) ผ้าห่อคัมภีร์
(3) ผ้าอาสนะ
(4) ว่อม
(5) ตุง
(6) ย่าม
(7) ผ้ายันต์ / ผ้ายันต์พระสิหิงค์
(8) ผ้าไหมสันกำแพง

(1) ผ้าพระบฏ / ผ้าพระบต

     “พระบฏ” พบว่าเขียนเป็น พระบด พระบต พระบท หรือพระบถ เป็นคำมาจากภาษาเขมรว่า "พระบต" (อ่านแบบเขมรว่า "เพรียห์บ็อต") หมายถึงแผ่นผ้าที่วาดพระพุทธรูปใช้แทนพระพุทธรูปเมื่อมีพิธีการนอกสถานที่ หรือผู้เดินทางนิยมใช้แขวนตามป่าที่ตนพักแรมอยู่ นอกจากนั้นยังใช้แขวนประดับที่ฝาผนังของวัด และบ้างก็นำไปประดิษฐานไว้ในที่บูชาด้วย
จิตรกรรมหรือการเขียนภาพระบายสีรวมทั้งการปักเป็นภาพสีลงบนแผ่นผ้านั้นมีมาแล้วแต่ครั้งพุทธกาล คติการทำพระบฏในบรรดาประเทศต่าง ๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาอาจมีเค้าเดิมมาจาการทำธงเพื่อนำไปประดับศาสนสถานตามเทศกาลประเพณี และน่าจะมีเค้ามาจากประเทศอินเดีย หลักฐานที่แน่ชัดที่สุดเกี่ยวกับเรื่องพระบฏในประเทศไทยปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 106 ซึ่งกล่าวถึงชีวประวัติของพนมไสดำ พระบฏจึงมีมาแต่ครั้งสุโขทัย ราว พ.ศ. 1927 เป็นต้นมา และคงจะมีพระบฏหลายชนิด โดยมีการอ้างถึงพระบฏจีนอีกด้วย ผ้าพระบฏเก่าแก่ที่สุดที่มีหลักฐานหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน คือพระบฏที่ขุดค้นพบในกรุเจดีย์วัดดอกเงิน อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

รูปแบบของพระบต
1. แบบผืนผ้าขนาดยาว ใช้สำหรับแขวนทอดลงมา มักเขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้ายืน หรือภาพพระพุทธเจ้ายืนภายในซุ้ม พร้อมด้วยพระอัครสาวกซ้าย – ขวา หรือเขียนภาพเล่าเรื่องในพระพุทธประวัติ พระมาลัย หรือทศชาติ หรือภาพเล่าเรื่องอื่นๆ
2. แบบผืนผ้าขนาดยาวในแนวขวาง ประมาณ 15-20 เมตร ใช้แขวนภายในอุโบสถหรือวิหาร นิยมเขียนภาพเล่าเรื่องเต็มทั้งผืน ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องพระเวสสันดรชาดกและทศชาติ
3. แบบผืนผ้าขนาดเล็กลง ประมาณ 50 x 70 เซนติเมตร หรือ 50 x 50 เซนติเมตร เขียนภาพเล่าเรื่องเป็นตอนๆ ในพระพุทธประวัติ ชาดก และที่นิยมกันมาก คือเวสสันดรชาดก

 

อ้างอิง:

  • ฐาปนีย์ เครือระยา. 2563. ผ้าพระบฏ. https://art-culture.cmu.ac.th/Lanna/articleDetail/1273
  • ปรมินท์ จารุวร. 2555. พระบฏ: พลวัตของการใช้งานพุทธศิลป์เรื่องเวสสันดรในชุมชนหนองขาว จังหวัดกาญจนบุรี. กรุงเทพฯ. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • "ผ้าพระบต." สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 8. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย
    ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542: 4043-4043.

ภาพประกอบ:

  • สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, 2566.

(2) ผ้าห่อคัมภีร์

ในสังคมพุทธศาสนามีความเชื่อเรื่องอานิสงส์ของการคัดลอกหรือจารคัมภีร์ใบลานถวายวัด เพื่อเป็นพุทธบูชาและสืบทอดพระพุทธศาสนา รวมทั้งเพื่อเก็บรักษา “สรรพวิชา” ทางต่าง ๆ มิให้สาบสูญ คัมภีร์ใบลานจึงเป็นบันทึกที่เก็บรักษาและบรรจุความรู้ทั้งทางธรรม และทางโลก ที่สำคัญคือสิ่งที่เป็นพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์อันเป็นหนึ่งในพระรัตนตรัยที่ชาวพุทธยึดเป็นสรณะ ด้วยเหตุนี้จำเป็นที่จะต้องมีเครื่องห่อหุ้มป้องกันทั้งในรูปของไม้ประกับคัมภีร์และผ้าห่อคัมภีร์ เพื่อเป็นการเก็บรักษาเป็นชั้นกรองมด ปลวก และแมลงทั้งหลาย ป้องกันและรักษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่บันทึกในคัมภีร์ใบลานให้ดำรงอยู่ตราบ 5,000 ปี ตามคติปัญจอันตรธาน

        อีกประการหนึ่ง เนื่องจากคนโบราณให้ความเคารพใบลานที่ได้จารอักษรลงไปแล้ว โดยนับถือว่าเป็นของขลังและศักดิ์สิทธิ์ จะหยิบจับนำมาพาไปด้วยอาการไม่สำรวมมิได้ เพราะคัมภีร์คือตำราและเทียบเท่าครูอาจารย์ ก่อนจะหยิบจับคัมภีร์ต้องกราบไหว้แม้ข้อความตามพระคัมภีร์นั้นจะแก้ไขต่อเติมอันใดมิได้เลยด้วยว่าจะทำให้ผิดพระบาลีไป นอกจากนี้ การเก็บรักษาใบลานด้วยผ้าห่อคัมภีร์ยังเป็นเสมือนการจัดกลุ่มข้อมูล ป้องกันการแตกผูกของใบลานที่จะมาสู่ความสับสน มูลเหตุเหล่านี้คือที่มาของการที่ต้องมีผ้าห่อคัมภีร์
        คัมภีร์เป็นเอกสารโบราณที่บันทึกบนใบลาน จึงต้องมีระบบการจัดเก็บที่ดีเพื่อให้ตัวคัมภีร์มีอายุยาวนาน ในชั้นแรกมีการทำประกับเป็นไม้ลงรักปิดทองเป็นปกของใบลาน มีการทอผ้าห่อหุ้มอีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันฝุ่นและความสกปรก ลวดลายจากผ้าห่อคัมภีร์จึงมีความหลากหลาย ทั้งยังมีหน้าที่ช่วยให้ค้นหาคัมภีร์ที่ต้องการได้เร็วขึ้นอีกด้วย สันนิษฐานว่าคนไท-ลาว รับอิทธิพลการใช้ผ้าห่อมาจากชาวจีน ผ้าห่อคัมภีร์ส่วนมากนิยมทอด้วยเทคนิคขิด บางทีมีการจกและยกผสมอยู่ด้วย
        การสร้างผ้าห่อมีหลายรูปแบบ เช่น การทอเป็นผืนผ้าให้ได้ขนาดตามต้องการแล้วนำไปใช้งานได้เลยและบางทีใช้ไม้ไผ่มาแทรกในระหว่างการทอ ให้ไม้ไผ่ทำหน้าที่เสมือนเกราะอีกชั้นหนึ่ง ชาวไทลื้อใช้เทคนิคล้วงในการทอผ้าห่อคัมภีร์โดยประกอบการสอดไม้ไผ่ที่สวยงามมาก สตรีล้านนานิยมทอผ้าห่อคัมภีร์ถวายวัดเพื่อหวังผลบุญในชาติหน้า เพราะตนเองไม่มีโอกาสบวชเรียนในพระพุทธศาสนา
        สำหรับพื้นที่ที่ไม่ได้มีวัฒนธรรมการผลิดผ้าไว้ใช้เอง ดังเช่นในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างและหัวเมืองในขอบเขตปริมณฑลของกรุงเทพฯ แต่มีความต้องการบริโภคผ้าโดยการนำเข้าพัตราภรณ์ทั้งหลายจากภายนอก นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องมาจนถึงรัตนโกสินทร์ เช่น ผ้าลายและผ้ายกจากอินเดีย ผ้าแพรจากจีนและญี่ปุ่น ผ้าไหมจากเขมรและลาว ฯลฯ ผ้าเหล่านี้นับเป็นของดีและมีค่า จึงถูกนำมมช้ในพระพุทธศาสนา ตามความเชื่อแต่เดิมที่ว่า ของดีของงามนั้นควรถวายวัด
        นอกจากนี้ยังพบผ้าห่อคัมภีร์ที่เป็นผ้าชั้นสูง ทำขึ้นจากวัสดุและฝีมือช่างชั้นเลิศ เช่น ผ้าปักแล่งและเลื่อมเงิน ซึ่งผู้ที่นำผ้านั้นมาถวายพร้อมคัมภีร์นั้น น่าจะเป็นเจ้านาย สตรีในราชสำนัก หรือขุนนางผู้มีบรรดาศักดิ์
         ปัจจุบันเมื่อการจารใบลานเป็นสิ่งที่พ้นสมัย โดยมีหนังสือสิ่งพิมพ์เข้ามาแทนที่ การใช้ผ้าห่อคัมภีร์จึงหมดความจำเป็นและยุติลงไปโดยปริยาย ผ้าห่อคัมภีร์กลายเป็นของเก่าเก็บซุกซ่อนตัวอยู่ตู้พระธรรม หีบพระธรรม รังแต่จะเป็นเหยื่อมดปลวกมอดแมลง และสูญสลายหายไปตามกาลเวลา
        ผ้าห่อคัมภีร์ หรือ ผ้าห่อธัมม์ คือผ้าห่อคัมภีร์ไบลาน ในวัฒนธรรมล้านนาจะเป็นผ้าทอหรือจัดหาขึ้นเป็นอย่างพิเศษเพื่อรักษาธัมม์หรือคัมภีร์ให้คงทน มีสองแบบ คือ
        1. ผ้าที่ทอด้วยเส้นฝ่ายหรือไหมล้วนๆ ซึ่งแบบธรรมดาก็เป็นผ้าพื้นสีขาว ผ้าไหมอาจทอด้วยเทคนิคธรรมดา มีขนาดประมาณ 50 x 75 เซนติเมตร และมีการขลิบริมผ้าโดยรอบด้วยผ้าสี เช่น สีดำ สีแดง เป็นต้น ผ้าห่อธัมม์แบบนี้อาจทำด้วยผ้าจากโรงงานหรือจากจีวรเก่าก็ได้
        2. แบบที่มีตอกไม้ไผ่สอดสลับ จะใช้เส้นฝ้ายหลากสีทอด้วยเทคนิคธรรมดาและทอด้วยวิธีขิดเป็นลวดลายพื้นฐานรูปต่างๆ สลับกับตอกไม้ไผ่ที่สอดคั่นเป็นระยะโดยตลอด หรือทอด้วยวิธีเกาะโดยสลับสีเส้นด้ายกับไม้ไผ่สอดคั่นจนเป็นผืนผ้ามีลวดลายเรขาคณิต มีขนาด 30 x 55 เซนติเมตร

ผ้าห่อกัมพีร์ มักจะมีเส้นเชือกสำหรับมัดห่อคัมภีร์ร้อยติดอยู่ด้วย บางทีผู้ถวายผ้าห่อคัมภีร์จะเขียนข้อความบอกชื่อผู้ถวายติดไว้ส่วนปลายผ้าด้านในด้วยก็มี

ข้อมูล:
  • กมล ฉายาวัฒนะ และคณะ. 2556. ผ้าห่อคัมภีร์ ในพิพิธภัณฑ์พระพุทธวิถีนายก วัดกลางบางแก้ว นครชัยศรี. ปทุมธานี. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • "ผ้าห่อกัมพีร์." สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 8. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542: 4055-4056.
  • วิถี พานิชพันธ์. 2547. ผ้าและสิ่งถักทอไท. เชียงใหม่. สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม
ภาพประกอบ:
  • สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, 2566.

(3) ผ้าอาสนะ

     ผ้าอาสนะ เป็นผ้าปูรองนั่งของพระสงฆ์ เพื่อใช้ในงานบุญโอกาสต่าง ๆ นิยมทอเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สำหรับพระภิกษุหรือสามเณรนั่งได้เพียง 1 รูป มีขนาดความกว้างและยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ผ้าอาสนะ ถือเป็นผืนผ้าแห่งศรัทธาที่คนล้านนานิยมใช้ในพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา โดยใช้วัตถุดิบในชุมชน เช่น ฝ้ายและไหม ใช้เทคนิคการทอผ้าทอ เทคนิคจก เทคนิคปัก หรือการมัดย้อม

ข้อมูล :

  • https://www.sac.or.th/exhibition/north/cloth-of-faith.php
  • https://kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=1431
  • http://mll.aru.ac.th/phaasana.html

ภาพประกอบ:

  • สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, 2566.

(4) ว่อม (หมวกอุ่น)

     “ว่อม” คือเครื่องสวมศีรษะทำด้วยผ้าเพื่อให้เกิดความอบอุ่น มิได้ใช้เพื่อป้องกันแดดฝน ลักษณะทรงกลมมีขนาดพอให้สวมได้พอดีกับเจ้าของโดยครอบตั้งแต่ส่วนบนสุดลงมาเพียงแค่หู ดังพบว่านิยมใช้ว่อมแก่เด็กหรือพระภิกษุที่อายุมากเพื่อป้องกันความหนาว และพบว่าหมวกแบบที่ชายชาวม้งสวมอยู่นั้นก็จัดว่าเป็นว่อมได้ด้วย
ว่อมอาจทำได้จากการใช้ผ้าชิ้นเล็กที่แต่งให้เข้าแบบแล้วเย็บต่อกันให้ได้รูปพอดีกับขนาดศีรษะของผู้ใช้ ทั้งนี้อาจใช้ผ้าสีเดียวหรือหลากสีก็ได้ แต่ในกรณีทำขึ้นเพื่อถวายพระสงฆ์นั้น นิยมทำด้วยผ้าสีกรัก และภายหลังก็มีการนำเอาไหมพรมมาถักขึ้นรูปเป็นแบบว่อม แต่ก็มักเรียกเป็นหมวกไหมพรม มากกว่าที่จะเรียกด้วยคำว่า “ว่อม”

 

ข้อมูล :

  • "ว่อม." สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (ฉบับเพิ่มเติม) เล่ม 3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย
    ธนาคารไทยพาณิชย์, 2554: 1186-1187.

ภาพประกอบ:

  • สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, 2566.

(5) ตุง

     “ตุง” เป็นผ้าทอสำหรับพิธีกรรมในภาคเหนือและภาคอีสาน ในภาคอื่น ๆ เรียกว่า “ธง” หรือ “ธุง” ลักษณะเป็นผ้าทอหน้าแคบ เน้นความยาวเป็นหลัก ยาวตั้งแต่ 50 ซม. ไปจนถึงหลายสิบเมตร พิธีกรรมการใช้ตุงเกี่ยวข้องกับการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับหรือสร้างผลบุญให้แก่ผู้ทอเองในภพหน้า มักจะพบเห็นตุงตามเทศกาลสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวกับงานวัดหรือการเฉลิมฉลองสิ่งก่อสร้างในวัด เช่น อุโบสถ วิหาร กุฏิ หอกลอง กำแพง หรือของที่เป็นสาธารณะ เช่น สะพานข้ามน้ำ ศาลาที่พัก หรืออาคารในป่าช้า
การทอตุงในล้านนา นิยมใช้วิธีขิด คือสอดด้วยซี่ไม้ไผ่ เพราะสามารถสร้างลวดลายได้สะดวกตามความยาว ลวดลายที่นิยมมากคือลายปราสาท ลายเรือบรรทุกปราสาท ลายคนและสัตว์ เช่น ช้าง ม้า นก หากตุงที่ทอมีความยาวมากอาจมีปัญหาว่าตุงจะถูกลมพัดจนหมุนเป็นเกลียว จึงแก้ปัญหาด้วยการใช้ไม้ไผ่แทรกในตัวตุงระหว่างทอเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ตุงไม่พันกันและเห็นลวดลายชัดเจน นอกจากลวดลายที่ทอเกี่ยวข้องกับความเชื่อแล้ว ไม้ที่แทรกระหว่างทอนั้นยังหมายถึงบันไดที่จะให้วิญญาณเดินขึ้นไปสู่ภพภูมิที่ดีกว่าเดิม (หรือสวรรค์) จึงพบว่านิยมใช้ไม้แทรก จำนวน 16 อัน แทนความหมายสวรรค์ 16 ชั้น ของไตรภูมิ ปลายของไม้ทั้งสองข้างเมื่อทอเสร็จแล้วใช้เศษผ้าสีหรือกระดาษสีพันตกแต่ง บางทีเป็นอุบะเล็ก ๆ ประดับเพื่อให้ดูสวยงาม ชายตุงหากมีความยาวก็จะถักสานเป็นลาย เพิ่มความสวยงามยิ่งขึ้น
การติดตั้งตุงใช้วิธีแขวนจากที่สูง มีการแขวน 2 แบบ คือ แบบแรกใช้เชือกมัดหัวตุงแล้วนำไปแขวนกับเสาไม้ไผ่หรือเสาอาคาร อีกแบบหนึ่งคือใช้ไม้แขวนตุงหรือไม้คอตุงเจาะรูเสียบหลวม ๆ ไว้กับเสาตุงเพื่อให้ตัวตุงสะบัดได้ง่าย ไม่พันเสา ไม้คอตุงนี้เชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์แทนไม้ซักผ้า หัวตุงมีลักษณะเป็นไม้ไผ่มาขดเป็นวงกลมเรียงซ้อนกันขึ้นไป หรือทำเป็นโครงสร้างไม้เนื้ออ่อนทรงปราสาทแล้วจึงนำตุงมาแขวนต่ออีกที รูปแบบของตุงที่พบเห็นในปัจจุบันมีหลายแบบ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
1) ตุงชัย (ตุงไจย) เป็นการทอตุงที่มีขนาดยาวประมาณ 3 – 5 เมตร ตัวตุงใช้ด้ายทอ หรือมัด หรือถัก แล้วคั่นด้วยไม้ไผ่เป็นช่วง ๆ ทำให้ดูโปร่ง แลเห็นแต่เส้นฝ้าย หางตุงมีหลายแบบ การถักเป็นอุบะดอกไม้เป็นแบบที่นิยมมากของชาวล้านนา ด้านข้างตุงสองด้านประดับด้วยเศษผ้า ดอกไม้ หรือใบลานตัด เรียกว่า ใบไร (ใบไฮ)

  2) ตุงพระเจ้าสิบชาติ จัดทำขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อแขวนห้อยในวิหารวัด ทำเป็นภาพวาดบนผืนผ้า จัดแบ่งด้วยไม้ไผ่ จำนวน 10 ช่อง แต่ละช่องจะวาดพระพุทธเจ้าพร้อมระบุชื่อของพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีเพื่อปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ดังนี้ เตมีย์ มหาชนก สุวรรณสาม เนมิราช มโหสถ ภูริทัต จันทกุมาร นารทะ วิทูร และเวสสันดร

  3) ตุงไทลื้อ ตุงผ้าทอเป็นลวดลายต่าง ๆ ชาวไทลื้อมักเรียกขานว่า “ตุงดอก” โดยทั่วไปตุงดอกจะทอด้วยเส้นฝ้ายสีขาว ส่วนลวดลายนั้นจะทอด้วยเทคนิคขิดหรือจก โดยสีที่นิยมในสิบสองพันนาแบบดั้งเดิม คือสีดำสลับแดง ในภายหลังมีการใช้วัสดุหลากสีมาทอ โครงสร้างสำคัญ คือส่วนล่างสุด นิยมทอเป็นรูปปราสาททรายล้อมด้วยรูปต้นไม้ ดอกไม้ นก คน ช้าง ม้า ฯลฯ และรูปสิ่งของเครื่องใช้บางอย่าง เช่น น้ำต้น ขันดอก เป็นต้น

   4) ตุงอักขระ ลักษณะการทอลวดลายคล้ายกับตุงไทลื้อ แต่มีการแบ่งส่วนเป็นชั้น ๆ โดยแบ่งตามอักขระ (อะ อา อิ อี อุ อู โอ กะ ขะ คะ ฆะ งะ....) มักจะถวายเป็นพุทธบูชา

   5) ช่อช้าง มีลักษณะเป็นธงสามเหลี่ยมชายธงขนาดใหญ่กว้างตั้งแต่ 80 เซนติเมตรขึ้นไป ยาวประมาณ 200 เซนติเมตร ทำจากผ้าแพร หรือผ้าที่มีน้ำหนักเบาและบาง ปลิวไสวเมื่อถูกลมพัด ใช้ผ้าสีพื้นเย็บแถบริมกว้างประมาณ 1 นิ้ว ทั้งสองด้าน ตกแต่งให้สวยงามด้วยการปักดิ้นตามขอบช่อหรือใช้สีเขียนลวดลาย ขลิบขอบทั้งสองด้าน ด้านฐานที่อยู่ตรงข้ามปลายแหลม เย็บทบสำหรับสอดไม้คันช่อ ด้านบนของช่อเย็บติดกัน ส่วนด้านล่างทำเชือกไส้ไก่สำหรับผูกช่อกับคันช่อซึ่งทำจากไม้ไผ่ทั้งลำตัดหัวตัดท้ายให้ได้ขนาดพอดี เสาหรือคันช่อส่วนมากจะใช้ไม้ไผ่รวกที่แห่งแล้ว เพราะแข็งทนทานและเบา สะดวกสำหรับคนถือ จัดอยู่ในประเภทเครื่องสักการะของชาวล้านนา และชาวพุทธที่อาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน พบว่ามีการใช้ช่อช้างหรือช่อนำทางเป็นเครื่องหมายนำกำลังพล หรือนำกองทัพออกรบหรือนำทางไปสู่ความดี

 

ข้อมูล:

  • ยุพิน เข็มมุกด์. 2553. ช่อและตุง: ศิลป์แห่งศรัทธา ภูมิปัญญาท้องถิ่น. เชียงใหม่. หจก.เชียงใหม่โรงพิมพ์แสงศิลป์
  • วิถี พานิชพันธ์. 2547. ผ้าและสิ่งถักทอไท. เชียงใหม่. สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม.

ภาพประกอบ:

  • สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, 2566.
ตุงชัย (ตุงไจย)
ตุงพระเจ้าสิบชาติ
ตุงไทลื้อ
ตุงอักขระ
ช่อช้าง

(6) ย่าม

     ภาษาล้านนาจะเรียก “ย่าม” ว่า “ถง” หรือ “ถงย่าม” ซึ่งหมายถึง “ถุง” ในภาษาไทยกลาง เป็นเครื่องใช้สำหรับใส่สิ่งของ ทำด้วยผ้า ก้นปิด ปากเปิด มีสายในตัวเพื่อใช้สำหรับสะพาย โดยทำเป็นสายขนาดใหญ่ เรียกว่า “ขาถง” และบางชนิดที่ปากจะมีหูรูดหรือหิ้ว
     ผ้าที่สำหรับใช้ทำถง จะเป็นผ้าฝ้ายทอมือ ทอด้วยฟืมหน้าแคบ นิยมทำเป็นลายแซง คือ เป็นด้ายพุ่ง เป็นเส้นด้ายที่ย้อมด้วยครามสลับกับเส้นด้ายสีธรรมชาติ เมื่อทอแล้วจะได้ลายริ้วเป็นทาง ซึ่งคนโบราณนิยมใช้ผ้านี้เป็น “ตัวถง หรือ ตัวย่าม” และเย็บ “ขาถง” หรือขาของย่ามส่วนที่จะใช้สะพาย ติดกับส่วนที่เป็นตัวย่าม
     ถงย่าม เป็นเครื่องใช้ที่สะดวกและมีประโยชน์มาก สามารถใส่สิ่งของสารพัด เป็นของใช้ที่อยู่คู่กับคนทั่วไป สามารถนำติดตัวไปได้ตลอด ส่วนใหญ่จะมีรูปแบบที่เหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันทางด้านสี และวิธีการเย็บ ตามท้องถิ่นหรือชาติพันธุ์ต่าง
     ถง มีหลายชนิด หลายขนาด และมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน เช่น
      - ถงก้นมน เป็นย่ามขนาดเล็กที่ใช้บรรจุของใช้ส่วนตัวหรือของเล็ก ๆ น้อย ที่จำเป็นต้องใช้ในระหว่างการเดินทาง ตรงส่วนก้นของย่ามจะเย็บให้เป็นทรงกลม โดยมากผู้ที่ใช้ถงก้นมนนี้ จะใช้ส่วนที่เป้นขาของย่ามคล้องเข้ากับไหล่
       - ถงขนัน เป็นถุงหรือย่ามขนาดเล็ก มีสายสำหรับห้อยแขวน มักใช้บรรจุเครืองรางของจลัง โดยอาจแขวนไว้กับที่หรือใช้ห้อยคำในการเดินทางหรือไปรบก็ได้ ต่อมาใช้เรียกในความหมายว่า ถุงเก็บของมีค่าหรือถุงเงินก็ได้
        - ถงห่อเข้าด่วน หรือ ถงห่อเข้า หรือชื่อเรียกในบางท้องถิ่นว่า ถงแป้ว เป็นย่ามเสบียงสำหรับคนตาย
ทำด้วยผ้าขาวหรือกระดาษสาหนา ๆ โดยนำมาตัดเย็บหรือทากาวติดกันแบบย่าม โดยใส่ข้าวปลาอาหาร หมาก เมี่ง บุหรี่ และเข็มเย็บผ้า เพื่อเป็นของกินของใช้ในการเดินทางไปสู่โลกหน้าของผู้ตาย ซึ่งจะให้ผู้ถือทุงสามหางสะพายถงเข้าด่วนไปด้วย โดยเดินนำหน้าขบวนศพไปจนถึงป่าช้า
    - ถงลัวะ เป็นย่ามของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ ละว้า หรือละเวีอะ เป็นย่ามสีขาว สำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนย่ามย้อมครามมีลวดลายตกแต่งด้วยไหมพรมลูกกลม ๆ ถือเป็นย่ามทางการและเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติลัวะ
        - ถงยาง เป็นย่ามที่ชาวปกาเกอะญอใช้ ขนาดไม่ใหญ่นัก ส่วนใหญ่มีสีแดง และมีด้วยทำเป็นพู่ห้อง

ข้อมูล :
  • “ล้านนาคำเมือง” มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 8 – 14 กุมภาพันธ์ 2562
  • "ถง." สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 5. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542: 2605-2605.
ภาพประกอบ:
  • สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, 2566.

(7) ผ้ายันต์

         ยันต์ หรือ ยันตร์ในล้านนา หมายถึงรูปต่างๆ ทั้งที่เป็นลายเส้น อักขระ ตัวเลข หรือภาพสัญลักษณ์ที่เขียนลงบนแผ่นผ้าหรือวัสดุอื่นๆ เช่น แผ่นทอง แผ่นเงิน แผ่นกระดาษ และบนวัสดุธรรมชาติ เช่น กะลามะพร้าว ใบมะพร้าว ใบลาน หรือบนผิวกายมนุษย์ โดยที่ต้องมีการทำให้วัตถุที่มีลายดังกล่าวเป็นของขลังที่สามารถอำนวยประโยชน์แก่ผู้ครอบครองตามลักษณะการใช้งานของยันต์นั้นๆ
ยันต์ต่าง ๆ ที่พบในล้านนา อาจจัดเป็นกลุ่มตามคุณสมบัติหรือความขลัง ดังนี้
        ก. ยันต์ประเภทให้ผลทางสิริมงคลหรือโชคลาภ เช่น ยันต์ปารมี 30 ทัด ของครูบาศรีวิชัย มีไว้กับบ้านเดินทาง หรือเข้าสงคราม ยันต์หัวเสา-ปิดที่หัวเสาของเรือน ยันต์โขงชาตา (ยันต์ล้อมดวงชาตา) ยันต์คุ้มชาตา (ทำให้ดวงดีขึ้น) ยันต์จักกิ้มสองหาง (จิ้งจกสองหางรักษาทรัพย์) ยันต์แปดทิศ (ติดที่หัวเสาเรือน) ยันต์โชคลาภ (เขียนยันต์เป็นไส้เทียน) ยันต์พระญาเต่าคำ (เขียนยันต์เป็นไส้เทียน) ยันต์มหาโมคคัลลานเถระของพระเมืองแก้ว (เขียนยันต์เป็นไส้เทียน) ยันต์รับโชค (เขียนยันต์เป็นไส้เทียน) และยันต์มหานิยม (เขียนยันต์เป็นไส้เทียน) เป็นต้น
ข. ยันต์ประเภทเมตตามหานิยม เช่น ยันต์เต่าเลือน ยันต์พรหมสามหน้า ยันต์ม้าเสพนาง ยันต์อิติปิโสแปดด้านแลหมวกเหล็กพระเจ้า ยันต์ดอกไม้สวรรค์ ยันต์ดอกบัวคำเก้ากาบ ยันต์มหานิยม (เขียนยันต์เป็นไส้เทียน) ยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ (เขียนยันต์เป็นไส้เทียน) เป็นต้น
ค. ยันต์สะเดาะเคราะห์-ขับเสนียดจัญไร เช่น ยันต์นกขุ้ม (ปิดไว้กับประตูบ้านร้านค้า) ยันต์ปโชตา (ปิดไว้กับบ้านเรือน) ยันต์เทียน (เขียนยันต์เป็นไส้เทียน) ยันต์โพธิสัตว์หลีกเคราะห์ (เขียนยันต์เป็นไส้เทียน) ยันต์คลาดแคล้ว (เขียนยันต์เป็นไส้เทียน) ยันต์ฉิมพลี (เขียนยันต์เป็นไส้เทียน) ยันต์สืบชาตา (เขียนยันต์เป็นไส้เทียน) ยันต์สะเดาะเคราะห์ (เขียนยันต์เป็นไส้เทียน) ยันต์พระโพธิสัตว์เอาแม่ข้ามน้ำ (เขียนยันต์เป็นไส้เทียน) และยันต์คนบ่มีปาก (กันมิให้คู่ความให้ปากคำ เขียนยันต์เป็นไส้เทียน) เป็นต้น
ฆ. ยันต์ประเภทช่วยให้ค้าขายดี เช่น ยันต์ค้าแม่นขายหมาน (ซื้อง่ายขายคล่อง) ยันต์ปลาตะเพียนทอง และยันต์ฉิมพลีเดินดง (เขียนยันต์เป็นไส้เทียน) เป็นต้น
ง. ยันต์ประเภทป้องกันผี เช่น ยันต์กั้งก่าผี (ป้องกันผีมาทำร้าย) ยันต์ปุริสาทกินผี (พระญาโปริสาทที่ชอบกินคน) ยันต์ผีเบื่อ และยันต์ก่านาค-ป้องกันพญานาคมาทำร้าย เป็นต้น
จ. ยันต์ประเภทป้องกันอาวุธ เช่น ยันต์ราหูอมจันทร์ เสื้อยันต์ (สวมใส่เพื่อป้องกันอาวุธ) ยันต์มัดแขน (ยันต์ผูกที่ต้นแขน) ยันต์พอกหัวเข้าเสิก (โพกหัวเข้าสู่ศึกสงคราม) ยันต์ช้างแปดตัว ยันต์กาสะท้อน (ผู้ทำร้ายจะได้รับผลเอง) ยันต์ข่ามเขี้ยว (คงทนต่อเขี้ยวงาทั้งหลาย) ยันต์พุทธาหัวเหล็ก (คงทนต่ออาวุธ) ยันต์เสือโคร่ง ยันต์อรหันต์ทั้งแปด ยันต์ตรีนิสิงเห และยันต์เสือโคร่ง (ใช้เมื่อเข้าสงคราม) เป็นต้น
        ฉ. ยันต์ประเภทป้องกันการกระทำด้วยอาคม เช่น ยันต์กั้งก่าเพิ่นไป่เพิ่นแปลง (กันคนกระทำด้วยคุณไสย) และยันต์ก่าตู้ลองของร้าย (กันคนกระทำด้วยคุณไสย)
        ช. ยันต์ประเภทใช้ไปกระทำกับผู้อื่น เช่น ยันต์หนีบ (บังคับให้ผู้อื่นรักตน) และยันต์ราชสีห์ (ใช้เมื่อคนในบ้านไม่ลงรอยกัน)
       ฌ. ยันต์ประเภทช่วยในการคลอดและคุ้มครองเด็ก เช่น ยันต์ตัดเกิด (มิให้แม่ซื้อรบกวนเด็ก) ยันต์คล้องคอแม่มาน (คล้องคอหญิงมีครรภ์) ยันต์แขวนคอละอ่อน (คล้องคอเด็ก) ยันต์โองการพระเจ้า และยันต์ร้อยแปด
       ญ. ยันต์ประเภทคุ้มครองสัตว์เลี้ยง เช่น ยันต์แขวนคอช้าง
        ฎ. ยันต์ประเภทคุ้มครองพืชผล เช่น ยันต์นะโมตาบอด (กันข้าวหายจากลานนวด)

วัสดุที่ใช้ในการเขียนยันต์
วัสดุที่ใช้ในการเขียนยันต์ จะแตกต่างกันไปตามความสามารถในการหาวัสดุ และจะต่างกันที่วัตถุประสงค์ในการใช้งาน ดังนี้
1) ในกรณีของยันต์ที่เขียนลงบนวัสดุที่เป็นแผ่นแล้วใช้ปิดตามบริเวณที่ต้องการ เช่น ที่เหนือกรอบประตูห้องนอน หรือที่หัวเสานั้น วัสดุที่ใช้อาจต่างกันดั้งแต่แผ่นทอง แผ่นเงินแผ่นทองแดง แผ่นดีบุก หรือแผ่นผ้า ตามแต่จะจัดหาได้
2) ยันต์ที่ใช้พกพาซึ่งมักเขียนบนวัสดุแล้วม้วนให้เป็นหลอดอย่างตะกรุดนั้น นิยมเขียนบนแผ่นเงินหรือแผ่นทองแดง
3) ยันต์ที่ใช้พกพาอย่างทำเป็นเข็มขัดเพื่อคงกระพันชาตรีนั้นนิยมจารลงบนใบลาน
4) ยันต์ที่เขียนเป็นรูปธงนั้นกำหนดว่าให้เขียนบนแผ่นผ้า
5) ยันต์ที่ทำเป็นไส้เทียนเพื่อจุดบูชานิยมเขียนลงกระดาษสา
6) ยันต์ที่จารบนวัสดุที่มีความขลังอยู่แล้ว เช่น กะลาตาเดียว เขี้ยวเสือ หรืองาช้าง

การใช้
เมื่อผู้ใช้ยันต์รับเอายันต์มาจากอาจารย์เจ้าซึ่งอาจเป็นฆราวาสหรือนักบวชก็ได้ ก็จะนำไปใช้ตามประสงค์ เช่น ยันต์ที่ให้ปิดไว้ที่ปลายเสาของเรือนก็จะเอาตะปูตอกติดไว้ ที่ให้คิดไว้เหนือกรอบประตูห้องนอนก็อาจดอกตะปูหรือใส่กรอบกระจกแขวนไว้ ถ้ายันต์ที่คล้องคอเด็กเพื่อกันโพยภัยก็จะมอบให้เด็กคล้องคอ ถ้าเป็นยันต์แบบตะกรุดที่ให้ใส่บ่อน้ำก็จะนำไปโยนลงในบ่อน้ำ ในขณะที่ตอกตะปูหรือคล้องคอหรือบรรจุยันต์ไว้ในที่กำหนดนั้น หากผู้ทำการรู้คาถาอาคมก็มักจะเสกคาถาที่เป็นมงคลกำกับไปด้วย ส่วนท่านที่ไม่สันทัดในการเป่าเสกก็จะกล่าวคำโวหารอันเป็นมงคลกำกับไปด้วยเสมอ

ข้อมูล :

  • "ยันต์." สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 11. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542: 5474 - 5481.

ผ้ายันต์พระสิงห์ หรือ ผ้ายันต์พระสิหิงค์

     สมัยโบราณเมื่อมีการหล่อ ปั้น หรือแกะสลักพระพุทธรูปด้วยไม้แล้ว จะนำไปกระทำพิธีแล้วถวายไว้บูชาที่วัด เพราะถือว่าที่อยู่ของพระพุทธรูปก็คือที่วัด จะไม่เก็บองค์พระพุทธรูปไว้บูชาที่บ้านเหมือนกับปัจจุบัน ถ้าใครเก็บไว้ที่บ้านถือว่าเป็นการไม่ถูกต้อง ว่ากันว่าเป็นพระบ้านไปเสีย บนหิ้งพระในบ้านจะมีคำไหว้พระ คำไหว้พระธาตุ รูปเขียนเจดีย์ที่สำคัญหรือรูปเขียนสีพระพุทธรูปเท่านั้น อย่างกับพระพุทธรูปที่ชื่อว่าพระสิหิงค์ ผู้ท่เป็นชายหัวหน้าครอบครัวก็จะเรียนเอาคำไหว้พระสิงห์ หรือคาถาพระสิงห์ คือคาถาปฐมัง ไว้ไหว้ทุกค่ำเช้า และบุคคลที่มีความรู้ในด้านคาถาอาคม มีความรู้ทางด้านขีดเขียน ก็จะเขียนรูปพระพุทธสิหิงค์ลงบนแผ่นผ้า พร้อมทั้งเขียนภาพพระสาวกบางองค์ เขียนรูปท้าวจตุโลกบาล เขียนรูปช้าง รูปม้าลงไปด้วยและเขียนคาถาปฐมัง คาถานวภา คาถาทุกขันเต เป็นต้น ลงบนแผ่นผ้านั้น และเรียกแผ่นผ้านั้นว่า "ขบวนพระสิหิงค์"การทำผ้ายันต์พระพุทธสิหิงค์แต่ละผืนต้องใช้เวลาและความพยายามสูงเพราะมีวิธีการทำที่ยุ่งยากพอสมควร ดังนั้นจึงเชื่อว่าผู้ใดมีผ้ายันต์พระพุทธสิหิงค์ไว้ในความครอบครองจะมีประโยชน์มากมายกับชีวิต

วิธีทำผ้ายันต์พระพุทธสิหิงค์
การที่จะเขียนรูปพระสิหิงค์ รูปอื่นๆ และเขียนคาถาลงบนแผ่นผ้า ประการแรก ให้เลือกผ้าเสียก่อน ให้ใช้ดอกฝ้ายที่มีสีขาวบริสุทธิ์ แล้วนำมาให้หญิงพรหมจารีเป็นผู้เปีย เป็นผู้ปั่นฝ่าย แล้วจึงให้หญิงนั้นทอให้เป็นเนื้อผ้าที่ละเอียดอ่อน จึงจะเป็นผ้าที่สมควรนำมาลงรูปพระสิหิงค์
เมื่อได้ผ้าแล้วก็ต้องจัดเตรียมสีที่จะใช้เขียนรูปลงในแผ่นผ้านั้น คนเมืองเรียกสีนั้นว่า "น้ำแต้ม" สีที่จะใช้มี

1. สีแดง ได้จากน้ำหาง คือชาด
2. สีเหลือง ได้จากหรดาล
3. สีดำ ได้จากแท่งหินสีดำ หรือจากแท่งหมึก
4. สีชมพูอ่อนหรือสีปูนแห้งได้จากน้ำฝนอิฐ
5. สีเขียว ได้จากน้ำที่บดคั้นจากยอดต้นทอง
6. สีน้ำเงิน หรือสีคราม ได้จากน้ำครามหรือน้ำห้อม
7. สีเลือดหมู สีน้ำตาล หรือสีน้ำครั่ง ได้จากน้ำของครั่ง

      การที่จะเอาสีจากวัตถุต่างๆ มาบดเป็นสี ต้องไปเอาหรือเตรียมตามวัน คือวันหนึ่งจัดหาสีและทำสีได้ 1 อย่าง เวลาที่ไปหาและนำมาบดให้ละเอียดต้องมีดอกไม้ที่มีสีใกล้เคียงนั้นเป็นเครื่องบูชาด้วย การกระทำพิธีเตรียมสี และการวาดรูป การลงอักขระยันต์ต่างๆ ให้ทำในอุโบสถ
ในการบดสี หรือบดน้ำแต้ม ให้เข้ากันได้ดีนั้น จะต้องเลือกวันที่เหมาะสมเสียก่อน ดังนี้
     วันอาทิตย์ ให้บดหาง คือชาดให้ละเอียด ในขณะที่บดนั้นให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เมื่อบดแล้วเอาละลายกับน้ำที่ผสมกับยางไม้สะเลียม คือยางสะเดา ไม่ให้เหลวและไม่ขั้นจนเกินไป เอาใส่ภาชนะอันสะอาด ยกตั้งไว้ในที่อันสมควรแล้วจึงจัดหาดอกไม้สีแดง และธูปเทียนมาบูชาสีนั้น
     วันจันทร์ ให้บดหรดาลให้ละเอียด ในขณะที่ทำการบดนั้นให้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก เมื่อบดแล้วเอาละลายกับน้ำที่ผสมด้วยยางไม้สะเลียม คือยางต้นสะเดา ไม่ให้เหลวหรือข้นเกินไป เอาใส่ภาชนะอันสะอาด ยกตั้งไว้ในที่สมควร แล้วจึงจัดหาดอกไม้สีเหลืองและธูปเทียนมาบูชาสีนั้น
     วันอังคาร ให้บดหมึกสีดำให้ละเอียด ในขณะที่บดนั้นให้หันหน้าไปทางทิศเหนือ เมื่อบดแล้วเอาละลายกับน้ำที่ผสมด้วยยางไม้สะเลียม คือยางจากต้นสะเดา ไม่ให้เหลวหรือข้นเกินไป เอาใส่ภาชนะอันสะอาดยกตั้งไว้ในที่สมควร แล้วจึงจัดหาดอกไม้สีดำและธูปเทียนมาบูชาสีนั้น
     วันพุธ ให้บดดินกี่ คืออิฐ ในขณะที่บดนั้นให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อบดแล้วเอาละลายกับน้ำที่ผสมด้วยยางไม้สะเลียม คือยางจากต้นสะเดา ไม่ให้เหลวหรือขั้นเกินไป เอาใส่ในภาชนะอันสะอาด ยกตั้งไว้ในที่สมควร แล้วจึงจัดหาดอกไม้สีขาว และธูปเทียนมาบูชาสีนั้น
     วันพฤหัสบดี ให้บดยอดของใบทอง จะมีสีเขียว ในขณะที่บดนั้นให้หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อบดคั้นเอาน้ำผสมกับยางไม้สะเลียม คือยางจากต้นสะเดา ไม่ให้เหลวหรือข้นเกินไป เอาใส่ในภาชนะที่สะอาด ยกตั้งไว้ในที่อันสมควร แล้วจึงจัดหาดอกไม้สีเขียว และธูปเทียนมาบูชาสีที่อยู่ในภาชนะนั้น
     วันศุกร์ ให้บดห้อมคั้นเอาน้ำมีสีน้ำเงิน เมื่อขณะบดนั้นให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วผสมกับยางไม้สะเลียม คือยางจากต้นสะเดา ไม่ให้เหลวหรือข้นเกินไป ใส่ไว้ในภาชนะอันสะอาด แล้วยกตั้งไว้ในที่อันควร แล้วจึงจัดหาดอกไม้ที่มีสีก่ำ หรือดอกไม้สีเหลืองและธูปเทียนมาบูชาสีนั้น
     วันเสาร์ ให้บดครั่ง คั้นเอาน้ำที่มีสีครั่ง เมื่อขณะบดนั้นให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วเอาผสมกับยางไม้สะเลียม คือยางจากต้นสะเดา ไม่ให้เหลวหรือข้นเกินไปใส่ในภาชนะอันสะอาด ยกตั้งไว้ในที่สมควร แล้วจึงจัดหาดอกไม้สีแดงกำ และธูปเทียนมาบูชาสีนั้น

     เมื่อถึงวันที่กำหนดว่าเป็นวันดีวันมหามงคล ให้ผู้ที่จะเป็นคนวาดคนเขียนสระผม อาบน้ำชำระตนให้บริสุทธิ์ แล้วจึงยกน้ำสีหรือน้ำแด้มทั้ง 7 มาตั้งสุมกันที่กลางอุโบสถ แล้วให้จัดเครื่องบูชาน้ำแต้มก่อน
ในการแต้มเขียน นั้นให้แต้มเขียนมัณฑละอัน 1 เป็นวงกลมที่ตรงกลางผ้านั้น เขียนรูปพระสิหิงค์เจ้าให้มีสิริโสภาคยะอันงาม ในท่ามกลางมัณฑละนั้นก่อน
     เมื่อแต้มเขียน หรือลงอักขระคาถาต่างๆ ตามที่กล่าวมาเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการสรุป คือการทำสมาธิท่องมนต์หรือปลุกเสกผ้ายันต์อีกครั้งหนึ่งเพื่อให้มีความขลังความศักดิ์สิทธิ์เพิ่มมากขึ้น ท่านให้หาวันที่ดี ฤกษ์ที่ดี คือได้แก่ภัทราดิถีหรือปุณณดิถี ให้ตรงกับวันอมัตตโยค คือวันอาทิตย์ หรือวันอังคาร ที่ตรงกับวันเดือนเต็ม ขึ้น 15 ค่ำ หรือจะเป็นเถลิงศกขึ้นปีใหม่ก็ยิ่งดี
     การกระทำพิธีดังกล่าวให้ใช้สถานที่ที่เป็นบ้านร้างก็ดี ที่วัดร้างก็ดี หรือในป่าอันสงบ โดยใช้ไม้อ้อมาสร้างเป็นหอกว้างประมาณ 1 x 1 เมตร ตรงกลางวางเขียงไม้มะเดื่อ จึงเรียกหอนี้ว่า หอเดื่อ เป็นที่สำหรับกระทำพิธี บริเวณรอบๆ หอเดื่อให้ตั้งเครื่องประกอบพิธีซึ่งจะต้องมีเบี้ยหมื่น หมากหมื่น เครื่องเงิน เครื่องคำ มะพร้าวคู่ ลูกตาลคู่ อาสนะ หมอน พัดโบกใหม่ จามร ข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวสุก หม้อใหม่ เสื่อใหม่ คนโทใหม่ แผ่นขาวแผ่นแดง ประทีป 7 ดวง กระบะบัตรพลีทำด้วยหยวกกล้วย 7 อัน ใส่ด้วยเครื่อง 7 มีแกงส้ม แกงหวาน ชิ้น ปลา หมาก เหมี้ยง ช่อทุงอย่างละ 7 และให้ตั้งเครื่องช้างเครื่องม้าด้วย
     เครื่องบูชา มีเทียน 7 เล่ม ดอกไม้ 7 ชนิด ประทีป ธูปรมเข้าตอก อันนี้เป็นเครื่องบูชารูปพระสิหิงค์ และพระอรหันตเจ้าทั้งหลาย และมีน้ำผึ้งใส่ในภาชนะตั้งบูชาพระปัจเจกเจ้า ลูกไม้หมากไม้บูชาราชสีห์ เนื้อดิบ ปลาดิบ บูชามหายักษ์ ปลาบูชานาคราช ข้าวตอกดอกไม้ แกงส้ม แกงหวาน หมากพลูพร้าวตาล บูชาพญาจักรพรรดิ หญ้าบูชาม้า
     เมื่อจัดเครื่องประกอบพิธีและเครื่องบูชาพร้อมแล้วและตั้งไว้เรียบร้อยแล้ว ผู้ที่จะทำการสรุปบูชาผ้ายันต์พระสิหิงค์นั้น ให้สระผม อาบน้ำชำระดนให้บริสุทธิ์ นุ่งเสื้อผ้าใหม่ นำเอาผ้าพระสิหิงค์วางไว้ในหอเดื่อนั้น แล้วทำการจุดเทียน จุดประทีป จุดธูป แล้วกล่าวคำอาราธนาเทวดา คือ สัคเค 7 รอบ แล้วจึงสูตรมหาสมัย สูตรพุทธวงศ์ สูตรนโมเม และกรณียะ สูตรสุคโต และโอมเหเห แล้วนำคาถาทุกบทที่เขียนลงบนแผ่นผ้านั้นมาสูตรเป็นการสรุปทุกบท แล้วสูตรมังคละเป็นบทสุดท้าย กระทำดังกล่าวมานี้คือการกระทำพิธีสรุป      เมื่อเสร็จการสรุปแล้ว นำผ้าพระสิหิงค์มาไว้ในอุโบสถและให้จุดธูปเทียนประทีปบูชาทุกวัน จนครบ 7 วัน ผ้ายันต์พระสิหิงค์จึงจะมีเตชะกล้าแข็ง

วิธีใช้ผ้ายันต์พระสิหิงค์
     ผ้าพระสิหิงค์ หรือผ้ายันต์พระสิหิงค์นี้ใช้ได้ 1,000 ช่อง คือใช้ได้นานัปการ ถ้ามีไว้บูชาก็จะป้องกันขึดเขิง คืออุบาทว์ทั้งหลายทั้งปวงได้ ตามคำโฉลกวิธีใช้ว่า "อิติปิโส ภควา ข้าขออาราธนาพระพุทธเจ้ากับทั้งแม่ธรณีทั้ง 8 ทิศ ข้าก็ขอถวายตั้งจิตและสันดาน ที่สถาน ที่หย้าวที่เรือน ขออย่ามีอุบาทว์จังไร มีทั้งประตูไม้ไผ่ ที่ใต้ถุน ที่ลุ่มที่เข็ญ ที่กับผะนัง ไม้หักไม้โค่น ทับที่ทับแดน แลนแล่นขึ้นเรือน งูเหลือมเลื้อยขึ้นชาน ช้างเถื่อนเข้าบ้าน เข้าสารออกงอกเป็นใบ เห็ดขึ้นกลางเตาไฟ มดปลวกแปลงรังแทงขึ้นใต้ถุนพื้นที่นอน งัวเป็นสีจักรเขาหักเขาคลอน นอนกรนนอนครางดังเหมือนดั่งเสียงฆ้อง เรือร้องดั่งเสียงกลอง กล้วยออกปลีทั้งข้างกลายเป็นดอกบัว ผีให้ผีโห่ตัวสั่นถ่าวถ่าว ขันสัมฤทธิ์ห้าวแตกเหมือนดาวกระจาย แมงมุมดีอก หนูกุกในเรือน นกเค้า นกแขก มาแถกหลังคา ข้าพเจ้าจิ่งเอาน้ำเขาสูตรมาผะผาย ช้าง ม้า โยธาท่านหากกลัวเรา"
     ถ้าเกิดโทษอันหนัก ตกขึด เกิดอุบาทว์แก่บ้านแก่เมือง เกิดแก่วัดวาอาราม อันร้ายแรงหนักหนาถ้าเกิดกับวัดก็ให้ชำระล้างกุฎีวิหารที่นั้น ถ้าเกิดกับเมืองก็ให้ชำระเมืองให้สะอาดบริสุทธิ์ ถ้าเกิดกับบ้านก็ให้ชำระบ้านนั้นให้บริสุทธิ์ก่อน แล้วให้ผู้ที่จะทำการบูชาชำระเนื้อตนบริสุทธิ์แล้วเอากระบวนพระสิหิงค์ตั้งเหนือผ้าอาสนะอบรมด้วยเครื่องรม ขี้เผิ้ง กำยาน แกงส้ม แกงหวาน 7 กระทง ดอกไม้ 7 อย่าง ประทีป 7 ช่อทุง เข้าตอก 7 ขัน อาสนะ น้ำต้นใหม่ ขันหมาก ส้มป่อย ตามประทีปน้ำมันงาไว้ เผาเครื่องรมบูชาตั้งไว้ตลอดคืนยันรุ่ง หากกระทำดังนี้แล้ว อุบาทว์ที่เกิดขึ้นก็จะลดน้อยถอยไป
     จักใคร่ไปหาลาภ ให้บูชาพระสิหิงค์เจ้า แล้วสูตรคาถาปฐมัง 1 คาบ คือ 1 จบ ไปสู่ที่ใดก็เกิดมีลาภที่นั้น สูตรคาถาปฐมัง 100 คาบ พอรุ่งเช้าจะมีคนนำเอาเข้าของและของกินมาให้จำนวนมาก สูตรคาถาปฐมัง 1,000 ครั้ง เทวดาจะเอาข้าวทิพย์มาให้กิน ช้างร้าย ม้าร้าย วิ่งมาตรงหน้า ให้ระลึกเถิงพระสิหิงค์เจ้า แล้วสูตร 7 ที แล้วก้าวถอยหลังหนี 1 ก้าว ช้างร้าย ม้าร้ายกระทำร้ายบได้
     เมื่อมีคนคิดจะมาทำร้าย หรือมาฆ่าให้ตาย ให้ระลึกถึงพระสิหิงค์ว่า "เจ้ากูจุ่งจักเป็นที่พึ่งแก่ข้าแด่" เช่นนั้นแล้วคนก็ไม่อาจคิดร้ายหรือทำร้ายเราได้แล
จักไปเข้าบ้านใหม่เรือนใหม่ก็ดี ไปรบศึกก็ดี ให้เอาขบวนพระสิหิงค์ออกตั้งบูชาดังกล่าวแล้วหันหน้าไปทางทิศที่จะไปนั้น แล้วตั้งใจอธิษฐานระลึกถึงพระสิหิงค์เจ้าแล้วให้ตะโกนร้องออกไป สัตว์ร้าย ผีร้าย และข้าศึกศัตรูหากหนีไปหมดแล
     เมื่อมีคนขโมยลักเอาเข้าของสมบัติเราไป ถ้าอยากจะรู้ว่าเป็นผู้ใดหรือสงสัยใคร ให้เอาเสื้อของผู้ที่เราสงสัยมา แล้วสูตรคาถาปฐมังเสกไม้หนีบที่เรียกว่าไม้ตับสำหรับปิ้งปลา แล้วเอาไม้นั้นเมี่ยนดีเสื้อของผู้ที่สงสัยนั้น ถ้าเป็นคนที่ขโมยไปจริงจะปรากฏรอยดีที่หลังของมันผู้นั้น
เดินทางไปในที่ใด เกิดหิวข้าวและไม่มีอาหารจะกิน ให้เอาดอกไม้บูชาทิศทั้ง 4 แล้วสวาธิยายคาถาปฐมัง 7 คาบ ระลึกถึงพระสิหิงค์เจ้า แล้วให้เอาใบไม้มาเคี้ยวกินจะหายหิว ไม่อยากกินข้าว
     ถ้าอยากให้มีคนนอบน้อมยำเกรงเรานั้น ให้ทำการบูชาพญาปุริสาทอันมีรูปอยู่ในขบวนพระสิหิงค์นั้น แล้วสวาธิยายคาถาบทที่ว่า "โอม เหเห" จะทำให้มีเตชะมากนัก
ฯลฯ

ข้อมูล :

  • "ผ้ายันต์พระสิหิงค์." สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 8. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย
    ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542: 4061-4069.

ภาพประกอบ:

  • สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, 2566.

(8) ผ้าไหมสันกำแพง

     อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแหล่งทอผ้ามานับตั้งแต่ครั้งอดีต ซึ่งชุมชนในอำเภอสันกำแพง ล้วนมีฝีมือในการทอผ้าด้วยกี่พื้นเมือง สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ เมื่อประมาณ 100 กว่าปีมาแล้วได้เริ่มมีการค้าขายระหว่างเชียงใหม่และพม่า โดยในเบื้องต้นเป็นการค้าผ่านขบวนช้าง ม้าต่าง วัวต่าง ต่อมาจึงได้มีการนำเส้นไหมดิบจากพม่ากลับมาเชียงใหม่ นำเส้นไหมดังกล่าวมาทอเป็นผ้าซิ่นไหม ผ้าโสร่งไหม แล้วดำเนินการส่งกลับไปขายให้พม่าอีกต่อหนึ่ง มีทั้งผ้าพื้น ที่เรียกว่า “ผ้าด้าน” คือผ้าไหมที่ใช้เส้นไหมพุ่งสีเดียว ทอตลอดกันไปทั้งผืน ไม่มี ดอกดวงหรือลวดลายอื่น นอกจากนั้น มีผ้าซิ่นหางกระรอก คือแบบปั่นไก หรือ “ซิ่นไก” หมายถึงการเอาเส้นไหมสีต่าง ๆ มาเป็นสี ๆ ให้เข้ากันแล้วทอ โดยลายของผ้าซิ่นเวลานั้นจะเป็นลายขวางเป็นส่วนใหญ่
จุดเด่นของผ้าไหมสันกำแพง คือลวดลายเฉพาะของสันกำแพง ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนามาเป็น “ลาย 7 วัน” คือ การใส่สี 7 สี ตามวันใน 7 สัปดาห์ หรือเรียกว่า “เชิง 7 วัน” จากนั้นก็มีลายวงเดือน ลายน้ำไหล ซึ่งมีเฉพาะที่สันกำแพงเท่านั้น
ในปี พ.ศ.2479 ผ้าไหมสีฟ้าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องมาจาก พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช ทรงขับรถแข่งคู่พระทัย ชื่อว่า รอมิวลุส (Romulus) ซึ่งมีสีฟ้าสด ต่อมาเรียกกันว่า “สีฟ้าพีระ” จึงทำให้สีฟ้าจึงเป็นสีที่นิยมที่สุดในเวลานั้น และมีการย้อมเสื้อไหมเป็นสีฟ้า และผ้าซิ่นก็ย้อมสีฟ้า แล้วจึงตั้งชื่อว่า “ผ้าไหมลายสีพีระ” ต่อมาในปี พ.ศ.2481 ได้มีการประกวดนางสาวไทย โดยผู้ชนะการประกวดในปีนั้นได้สวมชุดที่ตกแต่งและเล่นเชิงผ้าไหมของสันกำแพงขึ้นไปประกวดบนเวที ส่งผลให้รัฐบาลในขณะนั้น ให้การส่งเสริมและสนับสนุน จึงทำให้ผ้าไหมสันกำแพงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

 

ข้อมูล :

  • ไชยเชิด ไชยนันท์. 2562. รายงานการวิจัยเรื่อง การศึกษาพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าซิ่นสันกำแพง ต.สันกำแพง
    อ.สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.

ภาพประกอบ:

  • สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, 2566.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *